top of page

เรื่องสั้นไทย : 39 ปีที่ผ่านมา


สุชาติ สวัสดิ์ศรี

เคยพูดไว้เมื่อ 5 ปีมาแล้ว ลืมไปแล้วว่าพูดอะไรไว้ ต้นฉบับก็ไม่มีเก็บไว้ ค้นพบในบล็อก Art Horizon of Suchart Sawasdsri ที่จัดทำโดย คุณสนธยา ทรัพย์เย็น และ คุณโมรีมาตย์ ระเด่น อาหมัด แห่งเพจ Bookvirus & filmvirus

นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเวลาในปัจจุบันที่เรากำลังหายใจเอาความขัดแย้งระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ระหว่าง “เทวดา” กับ “องค์อินทร์” (คำของ “ลาว คำหอม”ในเรื่องสั้น สวรรยา : ขวัญใจ 2505) และหรือเลือกข้างกันไปแล้วแต่ “เฉดสี” ตามมายาคติต่างๆของตน สิ่งที่ปรากฏในเรื่องสั้นไทยปัจจุบัน ผมคิดว่าเราได้ผ่านพ้นยุค “ถวิลหาอดีต” ที่เรียกว่า goodie หรือ good old day มาไกลแล้ว ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เรื่องสั้นไทยที่เป็น “เพื่อนพ้องแห่งวันวาร” ของเรานั้น ได้เดินทางมาอย่างขรุขระไม่แตกต่างไปจาก “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้” และในความเป็น “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้” นั้น ผมอยากถือเอาปี พ.ศ. 2501 ในยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ “ผ้าขะม้าแดง” เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ “รัฐ” ถือสิทธิครอบงำราษฎรของตน โดยอ้างการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อขยายฐานอำนาจให้ตนเอง จอมพลสฤษดิ์ได้ “ตัดต่อ” และ “ตัดตอน”ความมีตัวตนของคณะราษฎรสายนายปรีดี พนมยงค์ และอิทธิพลในกองทัพของจอมพล ป.พิบูลสงครามลงไปได้อย่างสมบูรณ์ โดยเอาประเทศไปอยู่ในกำกับของสหรัฐอเมริกาที่ทำตัวเป็น “ตำรวจโลก” เริ่มต้นยุค “หมอผีครองเมือง” ที่หนุนนำการใช้ “สถาบันเบื้องสูง”มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในยุคสงครามเย็น ประโยคที่ว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงนี้ และได้กลายมาเป็นประโยคว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในช่วงทศวรรษ 2520 ที่สืบเนื่องมาเรื่อยพร้อมกับจินตนาการ 3 บรรทัด

ชาติ

ศาสนา

พระมหากษัตริย์

เริ่มต้นจากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ที่แบ่งแยกผู้คนเป็นซ้าย เป็นขวา เป็นสังคมนิยม เป็นคอมมิวนิสต์ เป็น “เสรีประชาธิปไตย” นับเป็นความแตกแยกในฐานะ “สงครามกลางเมือง”ครั้งที่ 2 (ครั้งแรกคือเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”) ที่บังเอิญจบลงได้เพราะความอ่อนด้อยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และความร้าวลึกในโลกสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ระหว่างโซเวียตกับจีน และจีนกับเวียดนาม รวมทั้งการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ตามนโยบาย 66/23 ของรัฐบาลที่นำเอา “คนป่าคืนเมือง” ได้สำเร็จ จนก่อเกิดเป็น วรรณกรรมบาดแผล อยู่พักใหญ่ ก่อนจะปรับตัวไปขึ้นเรือลำใหม่ที่เรียกว่า “ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์”

เส้นทางประชาธิปไตยตั้งแต่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมามีแต่ความขรุขระแปลกแยก (“แปลกแยก” เป็นการถอดศัพท์มาจากคำว่า alienation ของผมเอง โดยนำเอาคำว่า “แปลกหน้า” และ “แตกแยก”มาสร้างเป็นคำใหม่) ประชาธิปไตยในความหมาย “อำนาจของประชาชน”ในบ้านเราไม่เคย “เต็มใบ” อย่างแท้จริง จิตวิญญาณประชาธิปไตยที่เป็นทั้ง “จิตสำนึก” และ “ค่านิยม” จึงแบ่งผู้คนออกเป็นส่วนๆ โดยกินตัวเองมาพร้อมกับคำว่า “ทุนนิยม” และ “อุตสาหกรรมนิยม” เริ่มต้นตั้งแต่การประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2503 ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทมีมากขึ้น โดยคนชนบทอพยพเข้ามาสร้างความหวังในเมือง และทำให้เมืองขยายตัวกลายเป็นเมืองใหญ่ ก่อให้เกิด “ความแปลกแยกใหม่ๆ” ที่ผมเคยนำเอาชื่อเรื่องสั้นของวิทยากร เชียงกูลมาเรียกว่า “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” เรานึกเห็นภาพคลองแสนแสบที่มีน้ำใสสะอาดอากาศบริสุทธิ์ในแบบ “ไอ้ขวัญอีเรียม” จากเรื่อง แผลเก่า ของ “ไม้ เมืองเดิม” (2476) ไม่ออกต่อไปอีกแล้ว แต่กระนั้นก็เหมือนว่าเรายังได้ยินประโยคหนึ่งจากเรื่องสั้น บนผืนดินไทย ของ “อ.อุดากร” (2493) ดังก้องขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนภาพการเมืองไทยที่รวมศูนย์มากขึ้น และมีความแปลกแยกขัดแย้งทางความคิด (ประชาธิปไตย กึ่งประชาธิปไตย vs. เผด็จการ กึ่งเผด็จการ) มากขึ้น คำพูดประโยคดังกล่าวของ “อ.อุดากร” ที่ยังได้ยินซ้ำๆ ซากๆ มาจนบัดนี้ ก็คือ

“เผชิญ, แผ่นดินไทยผืนนี้ฝากไว้ด้วย”

ไม่ว่าจะรับฝาก หรือไม่รับฝาก เราก็ต้องอยู่ด้วยกัน “บนแผ่นดินไทย”ผืนนี้ต่อไปจนกว่าดาวหางชนโลก!

“เพื่อนพ้องแห่งวันวาร” และ “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้” ที่ปรากฏเป็นเรื่องสั้นสมัยใหม่ของเรานั้นมี “ใบหน้าอันหลากหลาย” ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย บางยุคบางสมัยได้ถูกตัดต่อ ตัดตอน และหรือบางครั้งก็ติดหล่ม ติดขวาก (“ติดขวาก” มาจากชื่อเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์) สิ่งที่หลายคนเคยคิดว่าได้ “เปลี่ยนผ่าน”มาแล้ว ปัจจุบันก็ยังแทบไม่ได้เปลี่ยนไปไหนมากนัก เป็นต้นเช่นเรามีการ “รัฐประหาร”โดยเฉลี่ย 8 ปีต่อ 1 ครั้ง และก็ไม่มีใครมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ภาวะของการ “ติดหล่ม” “ติดขวาก” ยังมีรูปธรรมปรากฏมาให้เห็นจนปัจจุบัน ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จะเปลี่ยนผ่านไปได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่ายัง “ยักแย่ยักยัน” และ “ฝุ่นตลบ” กันอยู่ในปัจจุบัน คนแทนที่จะเป็น “คน”มากขึ้นในโลกสมัยใหม่ (หรือ “หลังสมัยใหม่”) ก็เห็นมีแต่ “เทวดา” และ “องค์อินทร์” มากขึ้นในแทบทุกระดับ 39 ปี ที่ผ่านมา “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้” ของเราก็ยังเหมือนตกอยู่ในความขัดแย้งไม่ผิดแผกไปจาก “เพื่อนพ้องแห่งวันวาร” โดยมีภาวะของการติดหล่มติดขวากที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง (หมายถึงกรุงเทพฯ-เมืองเทวดา) นอกนั้นยังติดหล่มติดขวากอยู่กับระบบข้าราชการ ทุนนิยมบริโภค ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และกระแส “ราชาชาตินิยม” (คำของ ธงชัย วนิจจะกุล) (32) และสิ่งดังกล่าวยังเป็นแก่นแกนหลักมาตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 แม้แต่ปัจจุบันก็ยังกลายเป็นกลไกคล้ายๆกันไปหมด ฝันสีทองในอุดมการณ์ “สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์” บัดนี้ได้เปลี่ยนเรือลำใหม่มาเป็น “เฉดสี” ต่างๆ ของคำว่า “ทุน” โดยสิ้นเชิง

39 ปี ของเรื่องสั้นไทยนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ถ้ามองว่า “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” หมายถึงใบหน้าอันหลากหลายของผู้คน เรื่องสั้นไทยทั้ง “วันวาร” และ “วันนี้” ต่างก็มีใบหน้าทั้งที่เหมือนกัน ใกล้จะเหมือนกัน และต่างกันไปแล้วแต่ค่านิยมของผู้สร้าง เรามีเสรีภาพแต่ก็เป็นเสรีภาพที่เหมือนถูกกำกับโดย “ทุน” และ “ตลาด” กระแส “ราชาชาตินิยม” ทำให้ “คน” กลายเป็น “เทวดา” ในระดับต่างๆ เราเรียกตัวเองเป็น “พุทธ” แต่กลับนับถือ “ผี” โดยมีรูปธรรมมาตั้งแต่ “ศาลหลักเมือง” จนถึง “ศาลเจ้า” ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ “เฉดสี” ไหน หรือ “ทำการเมือง” ไว้ลาย = white lie กันแบบใด ความจริงที่ปรากฏนั้นมักจะมี “ความจริงลวง” ร่วมอยู่ด้วย ภาพรวมของเรื่องสั้นไทยในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นักเขียนเรื่องสั้นในบ้านเรา ดูเหมือน ยังตาม “ข่าวพาดหัว” (หมายถึง fact) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ทัน แม้ฝีมือทางรูปแบบจะพัฒนาขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัย “เพื่อนพ้องแห่งวันวาร” แต่มันกลับค่อนข้างไปทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ จนมีนักวิจารณ์ของฝรั่งคนหนึ่งกล่าวว่า “วรรณกรรมไทยสมัยใหม่ล้วนแต่อ่อนด้อยในการสร้างตัวละครเชิงจิตวิทยา…การเขียนเป็นแนวฝันเฟื่องเกี่ยวกับคนร่ำรวย…นักเขียนไทยเกือบทั้งหมดทุ่มเทความตั้งใจอย่างมากให้กับบุคคลที่มีความสำคัญอย่างสูง (33) ดังนั้นถ้าใจกว้างให้สมกับคำว่า “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” เราก็ควรพิจารณาวรรณกรรมให้ครอบคลุมทั้งระดับล่างและระดับบน เช่น เสือใบ – เสือดำ ของ “ป.อินทรปาลิต” ก็มีเนื้อหาแอบซ่อนการต่อสู้ทางชนชั้น (“ปล้นคนรวยช่วยคนจน”) เอาไว้ไม่น้อย แต่กลุ่มวรรณกรรมในบ้านเราก็ไม่เห็นยกย่องให้ “ป.อินทรปาลิต” เป็นนักเขียน “เพื่อชีวิต” หรือแม้แต่ พล นิกร กิมหงวน ของผู้ประพันธ์คนเดียวกัน เช่นสามเกลอ เที่ยวรัฐธรรมนูญ (2482) แม้จะเป็นงานเขียนในเชิงอารมณ์ขัน แต่สามเกลอ เที่ยวรัฐธรรมนูญ ของ “ป.อินทรปาลิต” ก็เชิดชูจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้เราเห็นทางอ้อม กล่าวคือได้กลิ่นอายของการยกย่อง “รัฐธรรมนูญ” (งานฉลอง ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและสวนอัมพร เมื่อวันที่ 9 – 14 ธันวาคม พ .ศ.2482) ว่าเป็น “มิ่งขวัญของชาติ” และบางครั้ง “ไพร่” อย่างนายแห้ว โหระพา ยังแอบเข้าไปเขกหัวล้านของ “อำมาตย์”เช่นเจ้าคุณปัจจนึกได้อย่างมีอารมณ์ขัน

หรือ เฒ่าโพล้ง เฒ่าเหมือน เฒ่าหนู เฒ่าไปล่ ตัวละครในเรื่องสั้นชุดเฒ่าของ มนัส จรรยงค์ แม้จะกินเหลี่ยมกินคมกันแบบไหน แต่ก็สามารถปรองดองกันได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้า เรื่องแม่หม้าย หรือเรื่องการเมือง (เช่น สัมมนาในทุ่งกว้าง : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 24 เมษายน 2503) ชาวคณะเหมืองแร่ในเรื่องสั้นชุดของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (เช่น น้ำกับน้ำใจ และ ศักดิ์ศรีของตาหมา ) ต่างก็แสดงภราดรภาพแบบบ้าน-บ้าน กันอย่างจริงใจ ไม่ต่างไปจาก “แจ้ง ใบตอง” ใน เสเพลบอยชาวไร่ ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่อ่านแล้วเห็นจิตวิญญาณของชาวบ้านระดับล่างที่มีวุฒิภาวะแบบ “พุทธๆ ผีๆ” หรือย้อนกลับไปก่อนหน้า เรื่องสั้นเช่น ขอแรงหน่อยเถอะ ของ “ศรีบูรพา” (ปิยะมิตร : 2495) นอกจากจะเชิดชูว่าแรงงานมีความสำคัญแล้ว ยังสะท้อนจิตใจที่เห็นว่าการช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อนมีความสำคัญยิ่งกว่า “เงิน” หรือเรื่องสั้น คนจน ของ “จำนง วงศ์ข้าหลวง” (เพลินจิตต์ : 2476) เธออยากทำหนังสือพิมพ์ ของ “องค์อภิรดี” (หนังสือเรื่องสั้น 1 นาทีทอง รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2493 “องค์อภิรดี” นามปากกาของนักเขียนสตรีรุ่นบุกเบิกที่เหมือนถูกลืมไปแล้ว) ศรีดารากับสงครามโลกครั้งที่สอง ของ “เรียมเอง” (ปิยะมิตร 2494) เพชฌฆาตที่เส้นขนาน 38 ของ อิศรา อมันตกุล (สยามสมัย : 2494) อิสรภาพที่ลองเบียน ของ “คุณาวุฒิ” (ปิยมิตร : 2496) มันเป็นเพียงไอ้พิน ของ ทนง ศรัทธาทิพย์ (สยามสมัย : 2496) เจ้าขุนมูลนาย ของ ถวัลย์ วรดิลก (กะดึงทอง : 2497) คนดิน ของ รมย์ รติวัน (ปิยะมิตร : 2504) ครูลือผู้ซื่อสัตย์ ของ เจญ เจตนธรรม ( ผดุงศึกษา : 2505) ฯลฯ เหล่านี้คือเรื่องสั้นของเพื่อนพ้องแห่งวันวารที่แสดงจิตวิญญาณของมนุษย์ในหลากหลายใบหน้าทั้งสิ้น คนเล็กคนน้อยที่ซื่อตรงเหล่านี้ คือจิตวิญญาณพื้นฐานของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่คนใหญ่คนโตที่ชอบพูดถึงความดีอย่างหน้าตาชื่นบาน แต่ทำความดีแบบปากว่าตาขยิบ วรรณกรรมที่สะท้อนจิตวิญญาณประชาธิปไตยทั้ง “วันวาร” และ “วันนี้” มีอยู่ในชีวิตสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อม มิใช่มีอยู่เพียงแค่ “ท่าน” ทั้งหลายในรัฐสภา หรือนักศึกษาปัญญาชนคนชั้นสูง ดังที่ผมเคยเปรียบไว้ทำนองว่า “น้ำเน่าก็เพื่อชีวิต”ได้ ถ้าศิลปวรรณกรรมมีพลังปัญญา (คำของ เจตนา นาควัชระ) จริง ศิลปวรรณกรรมเหล่านั้นจะชี้ให้เห็น “มนุษย์” และ “ความเป็นมนุษย์” ไม่ใช่ชี้เพียง “การเมือง” เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตน พลังในความหมายที่เท่าเทียมกันของผู้คนเหล่านี้ คือสิ่งที่ ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “อำนาจอิสระ ซึ่งนายปรีดีเคยพูดถึงเรื่องนี้ที่โรงเรียนกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ.2474 และ “อำนาจอิสระ” ดังกล่าวนั้นหมายถึงสิทธิเสรีภาพของราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 9 ประการ

1.อิสระในตัวบุคคล

2.อิสระในเคหะสถาน

3.อิสระในการทำมาหากิน

4.อิสระในทรัพย์สิน

5.อิสระในการเลือกถือศาสนา

6.อิสระในการสมาคม

7.อิสระในการแสดงความเห็น

8.อิสระในการศึกษา

และ 9.อิสระในการร้องทุกข์ (34)

อำนาจอิสระทั้ง 9 ประการนี้ ส่วนหนึ่งคือหลักการที่ปรากฏอยู่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และต่อมาได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยสืบเนื่องมาจากประโยคที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

เรื่องสั้นใดๆ ที่แสดง “อำนาจอิสระ”ของราษฎร [หรือที่โทมัส เพน เรียกว่า the Right of man] ได้อย่างมีพลังสร้างสรรค์ เรื่องสั้นนั้นๆย่อมมีจิตวิญญาณของมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตยก็คือ “วิถีแห่งราษฎร”ที่มีวิธีต่างๆกันไป และเราคงต้องมอง“ด้านกลับ” ของมันด้วยว่าราษฎรเหล่านั้นมี “อำนาจอิสระ” ในสังคมแบบ “พุทธๆ ผีๆ” แห่งนี้จริงหรือเปล่า หรือมันเป็นเพียง “รัฐนาฏกรรม” (คือคำของ นิธิ เอียวศรีวงศ์) ของผู้ปกครองที่จัดหามาแสดงตามฤดูกาล

เรื่องสั้นไทยในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ถ้าจะหาแหล่งข้อมูลให้เห็นมติทาง ประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง เราต้องลงไปให้ถึง “เอกสารชั้นต้น”ให้ได้ การอ้างปี “รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก” คงจะไม่พอ เพราะต้องอ้างไปให้ถึง “ปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรก” ให้ได้ด้วย การจัดระบบวรรณมาลัย [anthology] จึงไม่ควรทำให้วรรณมาลัยเล่มนั้นเสียเปล่าในแบบ”อัดปลากระป๋อง” เพราะวรรณมาลัยที่แสดงประวัติศาสตร์สังคม-การเมืองอย่างเห็นภาพควรลงไปให้ถึงปีพิมพ์ครั้งแรกและแหล่งพิมพ์ครั้งแรกให้ได้ ไม่เช่นนั้นชิ้นงานที่ปรากฏจะเสียของเปล่า กล่าวคือผู้อ่านรุ่นหลังจะไม่ทราบความเป็นมาในแง่ “มิติเวลา” โดยเฉพาะ “มิติเวลา” ในเชิงสังคม-การเมือง เช่นเรื่องสั้น จับตาย ของ มนัส จรรยงค์ มี “มิติเวลา” ในการพิมพ์ครั้งแรกที่นิตยสาร สิลปิน รายเดือน ปีที่ 1 เล่มที่ 3 ประจำเดือนกันยายน 2485 เมื่อสามารถลงเวลาของปีพิมพ์ครั้งแรกได้ งานชิ้นนั้นๆจะแสดงให้ผู้ศึกษาและคนรุ่นหลังเห็นความหมายทางประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง เช่น จับตาย คือเรื่องสั้นที่เกิดขึ้นในสมัย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศใช้ภาษาไทยแบบใหม่ หรือที่เรียกกันต่อมาว่า “อักขระวิบัติ” คำว่า สิลปิน ที่เป็นชื่อนิตยสาร ก็เขียนตามหลักภาษาแบบใหม่ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ความสำคัญในแง่ “มิติเวลา” ก็คือทำให้เรารู้ว่าเรื่องสั้น จับตาย ของ มนัส จรรยงค์ ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2485 นั้น มีความหมายในเชิงประวัติวรรณกรรมว่าผ่านเวลามาแล้ว 70 ปี คือมีอายุมากกว่าผู้บรรยาย แต่ยังเป็นเรื่องสั้นที่มีเสียงเล่าอันทรงพลังมาก่อนเรื่องสั้นของ “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้ ” หลายต่อหลายเรื่อง ตัวอย่าง “เสียของ” เห็นมีปรากฏอยู่ในวรรณมาลัยหลายต่อหลายเล่มที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ขึ้น เช่น เสาหินแห่งกาลเวลา ดาวส่องเมือง เรืองแสงดาว ลมหายใจของแผ่นดิน น้ำใสในสายธาร คือหญิงอย่างยิ่งนี้ และเมื่อเร็วๆนี้ก็คือวรรณมาลัยชุด 40 เรื่องสั้น 40 บทกวี 40 ปีสมาคมนักเขียนฯ รวมทั้งวรรณมาลัยของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ชื่อ วรรณมาลัย รวมเรื่องสั้นไทยร่วมสมัย พ.ศ.2475 จาก 41 นักเขียนไทย แม้จะมีเจตนาดีในความพยายามที่จะศึกษาวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ให้เป็นระบบ แต่ในแง่ “มิติเวลา” กลับมีหลายชิ้นงานที่ดูเหมือน “เสียของ” ไปเปล่าๆ เพราะเรื่องสั้นที่นำมาเผยแพร่ใหม่จำนวนหนึ่งลงไปไม่ถึง “เวลา” ของแหล่งพิมพ์ครั้งแรก ดังนั้นทำให้จิตใต้สำนึกลงไปไม่ถึงชั้นของความเป็นมาครั้งแรก แม้บางเรื่องจะระบุปีของการรวมพิมพ์ครั้งแรกไว้ แต่ในทรรศนะของผมคิดว่ายังไม่พอ ยังเป็นการ “อัดปลากระป๋อง” ให้คนรุ่นหลังสับสนเรื่อง “เวลา” เรื่องสั้น “ร่วมสมัย” ที่ยังไม่ได้ “ล่วงสมัย”ไปไกล บางทีก็ยังสุกเอาเผากิน เช่นไม่ให้เครดิตของปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรก ขอแนะนำว่านักเขียนที่นำเรื่องสั้นต่างๆ ของตนไปให้สำนักพิมพ์รวมพิมพ์เป็นเล่ม ไม่ว่าจะรวมพิมพ์ครั้งแรกหรือครั้งต่อมา นักเขียนควรต้องนับถือ “ประวัติการพิมพ์ครั้งแรก” ของตนเองอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยให้สำนักพิมพ์ทำตามอำเภอใจแบบ “อัดปลากระป๋อง” เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ชิ้นงานต่างๆของท่าน ไม่ว่าจะมีคุณภาพแบบไหน การให้เครดิตปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรกจะช่วยเป็นกระจกส่องให้การศึกษาวิจัยของคนรุ่นหลังมี “ด้านลึก”มากขึ้นในแง่ประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง ซึ่งเท่ากับเพิ่มคุณค่าให้แก่งานของท่าน เมื่อท่านได้ล่วงผ่านจาก “วันนี้” ไปเป็น “วันวาร” เรื่องสั้นไทยในรอบ 40-50 ปีที่ผ่านมา ผู้ศึกษาวิจัยควรต้อง “ลงเวลา” ปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรกให้ได้ และถ้าระบุที่มาของการรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกไว้พร้อมกันด้วยก็จะดียิ่งขึ้น ความสำคัญในเชิง “มิติเวลา” นั้น ตามหลักสากลของการศึกษาวิจัย เขาให้ถือเอา “เวลาที่พิมพ์ครั้งแรก” เป็นจุดเริ่มต้นที่ชิ้นงานนั้นมีชีวิต

ดังนั้นการลงตัวอย่างของเรื่องสั้นไทยที่ผ่านมา เราจึงต้องดูเวลาไปให้ถึงปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรก มิใช่ปีของการรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกอย่างเดียว เพราะนักเขียนบางคนอาจต้องใช้เวลาเป็นปี หรือหลายปี กว่าจะมีเงื่อนไขนำชิ้นงานที่กระจัดกระจายเหล่านั้นมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก นี่เป็นกฎเหล็กของการศึกษาวิจัยงานวรรณกรรมในภาพรวม เพื่อประโยชน์ในการ “ลัดเวลา” ให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นมิติทางเวลาของตน เป็นต้นจากโจทย์ที่ให้มาก็หมายความว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ที่เกิด “เหตุการณ์ 14 ตุลา” จนถึงเวลาปัจจุบันที่ท่านกำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ ท่านต้องลงไปให้ถึงปีพิมพ์และแหล่งพิมพ์ครั้งแรกของชิ้นงานนั้น เพื่อจะได้รู้ถึง “เวลา” ว่าสัมพันธ์กับ “สถานที่” และ “ตัวบุคคล” ทางประวัติศาสตร์อย่างไร แต่นี่เป็นการเรียกร้องเชิงอุดมคติเสียกระมัง เพราะในบ้านเรานั้น ใครจะรับรองว่าเรามีแหล่งกลางที่เก็บรวบรวม “สิ่งพิมพ์ต่างๆ” ตามวันเวลาที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วนทุกยุคทุกสมัย “หอสมุดแห่งชาติ” และ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติ” เช่นนั้นหรือ ผมไม่รับรอง เพราะสถาบัน “ระดับชาติ” ดังกล่าวก็ไม่แน่นักว่าจะให้ความสำคัญกับการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และไม่มีอคติ บางยุคบางสมัยตกอยู่ในภาวะ “เลือกเก็บ” ตามกระแสของอำนาจรัฐ ฝ่ายขวายึดอำนาจ หนังสือที่ถือเป็นฝ่ายซ้ายแทบจะเป็นปฏิปักษ์กับระบบห้องสมุดในบ้านเราไปโดยปริยาย เช่นถูกทำให้หายไป หรือไม่ก็ถูกประกาศให้เป็น “หนังสือต้องห้าม” ที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” (ซึ่งในกรณีนี้รวมทั้งหนังสือของ “ฝ่ายโป๊”ด้วย) อย่างไรก็ตาม ก็ให้เห็นใจหน่วยงานเช่น “หอสมุดแห่งชาติ” ที่มีงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือเพียงปีละ 1 ล้านบาท ตรงกันข้ามกับคำว่า เมืองหนังสือแห่งโลก ที่เอางบประมาณไป “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”อย่างได้ไม่คุ้มเสีย

แหล่งเอกสารชั้นต้นทางวรรณกรรมในขอบเขต 39 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่ามีจำนวนมากและหลากหลายใบหน้า แต่ท่านจะพบข้อมูลต่างๆเหล่านั้นอย่างเป็นระบบครบถ้วนหรือไม่ พระสยามเทวาธิราชเท่านั้นที่รู้ อาทิ วรรณกรรม “เล่มละบาท” (35) และหนังสืออนุสรณ์ “รายปี” ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีเรื่องสั้น บทกวีและบทความต่างๆ ตีพิมพ์ครั้งแรก และต่อมาก็เช่นวรรณกรรม “ในป่า” ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์และวิญญาณของ “ไอ้ลูกขบถ”ทั้งหลาย บรรดาสิ่งพิมพ์ “ในป่า” เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสะท้อน “จิตวิญญาณประชาธิปไตย”ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต่อมาก็เป็นนิตยสารรายต่างๆ ทั้งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เช่น ปิยะมิตร สายธาร สยามสมัย ศรีสัปดาห์ สตรีสาร สกุลไทย เดลิเมล์วันจันทร์ บากกอกรายสัปดาห์ สี่รสรายสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ชาวกรุง คุณหญิง ช่อฟ้า ยานเกราะ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ลอมฟาง สามยอด พระจันทร์เสี้ยว หนุ่มเหน้าสาวสวย เฟื่องนคร พาที บีอาร์ การะเกด ชีวิต ศูนย์ศึกษา ลลนา ชัยพฤกษ์ วิทยาสาร วิทยาสารปริทัศน์ ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษา–ประชาชน เสียงเยาวชน เสียงสตรี ปุถุชน เอเชียรายสัปดาห์ มหาราษฎร์รายสัปดาห์ อักษรศาสตร์พิจารณ์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฯลฯ และหรือในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สืบเนื่องมาจนถึงการรัฐประหาร 17 พฤษภาคม 2535 และ 19 กันยายน 2549 เช่น โลกหนังสือ ถนนหนังสือ บานไม่รู้โรย มติชนสุดสัปดาห์ เศรษฐกิจการเมือง Hi-Class ปริทัศน์ แมน หนุ่มสาว ชายชอบสนุก นีออน กะรัต อาณาจักรวรรณกรรม ฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ดิฉัน ขวัญเรือน แพรวสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ จุดประกายวรรณกรรม ช่อการะเกด สโมสรนักเขียนอีสาน Writer นาคร ฝังใจไฟฝัน ชายคาเรื่องสั้น พลเมืองเรื่องสั้น นิตยสารเรื่องสั้น [E-Book] ฯลฯ แหล่งพิมพ์เรื่องสั้นครั้งแรกเหล่านี้ล้วนมีมิติเวลาในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ (เช่นช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาปัญญาชนพากันหนีตาย “เข้าป่า” แต่ในเมืองกลับกล่าวกันว่ายังมี “เรื่องสั้นเพื่อชีวิต” ตีพิมพ์ในนิตยสารนู้ดๆๆ เช่น แมน หนุ่มสาว ชายชอบสนุก นีออน ฯลฯ ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาหนังสือที่เรียกว่า “โป๊”เหล่านี้ได้ครบถ้วนในหอสมุดแห่งชาติหรือไม่ บรรดาสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยที่เป็นเหมือน “เพื่อนพ้องแห่งวันนี้” เหล่านี้ ถ้าเรามีแหล่งกลางที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบครบถ้วน และไม่มีอคติ ตั้งแต่เรื่องการเมืองจนถึงเรื่องการโป๊ จิตวิญญาณแบบนี้แหละครับที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตย ผมเองพยายามสะสม “มิติทางเวลา“ เหล่านี้ไว้ในโกดัง (บ้าน) บางส่วน แต่ “น้องน้ำ” ก็ได้มายืมไปแล้วมากกว่า 80 เปอร์เซ็น นัยว่าเพื่อต้องการร่วมฉลอง เมืองหนังสือแห่งโลก ที่มีงบประมาณเพื่อการนี้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

วันเวลาที่ไม่ผ่านเลย

เรื่องสั้นไทยนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึงเวลาปัจจุบัน มีข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นนับหมื่นเรื่อง เอาเฉพาะใน โลกหนังสือ ถนนหนังสือ บานไม่รู้โรย ช่อการะเกด และ ช่อปาริชาต ก็มีนับ 1,000 เรื่องแล้ว จะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไร จะเริ่มกันเป็นภาค [regional] จะเริ่มกันเป็นเพศ [gender] หรือจะเริ่มกันเป็นเรื่อง [subject] ก็มีข้อมูลให้ค้นหาในแง่มุมของ “ใบหน้าอันหลากหลาย” ตามยุคตามสมัยได้ทั้งนั้น เพื่อรวบรัดผมจะขอยกตัวอย่างเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ตาม มรส. (มาตรฐานรสนิยมส่วนตัว) ของผมเท่านั้น และจะขอ “กดขี่ทางเพศ” ตัดเรื่องสั้นของ “นักเขียนสตรี” ออกไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทั้ง “ใจรัก” หรือ “ใจภักดิ์” เพราะถ้ากล่าวถึง “นักเขียนสตรี”ในรอบ 39 ปี (พ.ศ.2516) ที่ผ่านมา ผมจำต้องมีเรื่องสั้นของนักเขียนสตรีที่ชื่อ “ศรีดาวเรือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักเขียนสตรี ป.4 ผู้นี้เป็นหนึ่งเดียวในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า “..เป็นปรากฏการณ์ของสังคมไทยที่หากันได้ไม่บ่อยนักที่พาตัวเองขึ้นมาจากชนชั้นล่างได้สำเร็จ” (36) ดังนั้นจึงไม่ขอยกตัวอย่างนักเขียนสตรีผู้นี้ และนักเขียนสตรี “ร่วมสมัย”คนอื่นๆทั้งหมด เนื่องจากไม่มีเวลามากพอ บางทีคงต้องจัดทำเป็นวรรณมาลัย “นักเขียนสตรี” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจากเอกสารชั้นต้นต่างๆให้เป็นระบบต่างหากออกไป รวมทั้งเรื่องสั้นทั้งหมดที่ปรากฏใน ช่อการะเกด ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ คือ โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น :วันเวลาที่ผ่านเลย

(สำนักพิมพ์ดวงกมล : พฤษภาคม 2521) จนถึงฉบับสุดท้าย คือ ช่อการะเกด 55 (สำนักช่างวรรณกรรม : ธันวาคม 2553) ก็จะตัดบรรดา “ศิษย์เก่าช่อการะเกด” ทั้งบุรุษและสตรีออกไปทั้งหมดด้วย เพื่อป้องกันอาการ “รักน้องเสียดายน้อง” (37)

ผมขอยกตัวอย่าง “นักเขียนบุรุษ” บางคนที่ถูกมองข้าม หรือไม่ครั้งหนึ่งเคยถูกประเมินไว้ต่ำ ดังนี้

1.ศรีศักดิ์ นพรัตน์ : ผางซื้อหมวก

ผางซื้อหมวก พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ชีวิต รายเดือน (กันยายน 2519)

ศรีศักดิ์ นพรัตน์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “หยอย บางขุนพรหม” เขาถนัดแนวเขียนแบบ “หัสคดี” [humor] แต่ก็เขียนเรื่องสั้นในลักษณะ “เพื่อชีวิต” ไว้ไม่น้อย ในช่วงก่อนและหลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลา” เขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว “ต่อต้านฐานทัพอเมริกา” ที่โคราช เคยสมัคร สส.ในนามพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และเคยถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ผางซื้อหมวก เป็นเรื่องสั้นง่ายๆแบบชั้นเดียว “ผาง” เป็นลูกชาวนาภาคอีสาน เข้ามาเป็นกรรมกรในโรงงานทอกระสอบ ค่าแรงของผางในปี พ.ศ.2519 ระบุว่าวันละ 12 – 15 บาท ผางเก็บเงินส่งให้ทางบ้านเป็นประจำ วันหนึ่งเมื่อค่าแรงออก เขาก็อยากซื้อหมวก “แบบที่อยากได้” สักใบ และก็ตัดสินใจซื้อหมวกใบนั้น หมวกใบนั้นราคา 43 บาท เท่ากับค่าแรง 4 วันของเขา “ผาง” ตัดสินใจซื้อและใส่ขึ้นไปนั่งบนหลังคารถเมล์เล็กที่คนแน่นมาก รถวิ่งเร็วจนลมปะทะหมวกของเขาหลุดไป “…ผางรู้สึกเย็นวูบที่หัว…เขาพุ่งตัวออกจากหลังคารถ คนละทางกับรถที่ลิ่วไปข้างหน้า…” เรื่องสั้นชั้นเดียวของศรีศักดิ์ นพรัตน์ เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนยังเห็นภาพ stopmotion ที่ “ผาง” ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง พุ่งตัวจากหลังคารถไปคว้าหมวกราคาเท่ากับค่าแรง 4 วันของเขา ภาพของผางที่เหมือนถูก stop ไว้นั้น จากเวลานั้นจนเวลานี้ ผมเองไม่ทราบว่า “ผาง” มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแบบไหน ทราบแต่ว่าความแปลกแยกและความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าของผู้คนในสังคมนี้ยังดำรงอยู่ต่อมา ภาพของ “ผาง” ในจินตนาการยังคงลอยค้างอยู่อย่างนั้นจนบัดนี้ หมวก 1 ใบ มีค่าที่ต้องแลกด้วยชีวิตเช่นนั้นหรือ นี่เป็นประเทศ “ประชาธิปไตย” แบบไหนกัน แล้วประชาธิปไตยตลอดเวลา 80 ปีที่ผ่านมาล่ะ – ราคาเท่าไร ต้องแลกกับความไม่เท่าเทียมมาแล้วกี่ศพ วันเวลาผ่านร้อนผ่านฝนมาเกือบ 4 ทศวรรษแล้ว “คนแบบผาง” คงไม่ใช่ “คนแบบทักษิณ” แน่นอน เพราะ “คนแบบผาง” นั้นยังเป็นเหมือนภาพ stopmotion เช่นเดิม แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาทแล้ว แต่หมวกของ “ผาง” ใบนั้นก็ยังลอยอยู่ในอากาศ

(ศรีศักดิ์ นพรัตน์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมานาน 3 ทศวรรษแล้ว และแวดวงก็เหมือนลืมเขาไปแล้วเช่นกัน)

2.สายตะวัน : หมู่บ้าน

“สายตะวัน” เป็นนามปากกาหลัง “เหตุการณ์ 6 ตุลา” ของนักเขียนนิรนามจาก “ในป่า" เรื่องสั้นที่ชื่อ หมู่บ้าน ถูกส่งมาจาก “ป่า” อย่างไรก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่าพิมพ์ครั้งแรกใน โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น : วันเวลาที่ผ่านเลย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2521 เหตุการณ์ “ในป่า” เวลานั้น เข้าใจว่ายังมีการปะทะกันดุเดือด เนื่องจากเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่ปรากฏนามของผู้แต่ง ผมจึงตั้งนามปากกาให้เขา โดยจัดไว้ในตระกูลใหม่ของผมที่ขึ้นต้นว่า สาย เป็นต้นเช่น สายวนา (อีกนามปากกาหนึ่งของ “ศรีดาวเรือง”) สายไท (นามปากกาของ อำนวยชัย ปฏิพัทธเผ่าพงษ์) สายสันติ (นามปากกาของ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธิ์) และสำหรับเรื่อง หมู่บ้าน ผมตั้งนามปากกาให้เขาว่า สายตะวัน เนื้อหาของเรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงหมู่บ้านเล็กๆในหุบเขาแห่งหนึ่งที่ทำการผลิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน ต่อสู้ป้องกันภัยจากธรรมชาติและสัตว์ร้ายร่วมกัน เมื่อเวลาผ่านไป มีพระและมี “ถนน” เข้ามาในหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจาก “…มีผู้คนเข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้าน และบริเวณหุบเขาใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว จำนวนหลังคาบ้านเพิ่มนับแทบไม่ทัน…” มีรถลากซุงเข้ามา มีพ่อค้าเข้ามา มีผู้ใหญ่บ้านเข้ามา มีโรงเรียนเข้ามา แต่ “…สภาพใหม่ที่เกิดขึ้น ก็คือคนพวกหนึ่งยากจนลง คนอีกพวกหนึ่งร่ำรวยขึ้น หลายคนเริ่มสูญเสียที่ดินไร่นาของตน” ในที่สุดชายชราแห่งหมู่บ้านคนนั้นจึงกล่าวว่า “…นี่คือความดับสลาย” และ “…วันเวลาแห่งภัยพิบัติก็มาถึง”

เรื่องสั้น หมู่บ้าน เป็นเรื่องสั้นแบบชั้นเดียว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใน “หมู่บ้าน” แห่งนี้ ปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นแบบเดียวกันในอีกหลายหมู่บ้าน แม้ว่าเรื่องสั้น ช่อการะเกด ในยุคต่อมาจะหลุดลอยออกจาก “หล่มเพื่อชีวิต” แบบเก่าได้สำเร็จ และพัฒนาเนื้อหาขึ้นมาเป็นแบบหลายชั้นในยุคต่อมา โดยฝีมือการเขียนที่เข้มข้นขึ้น เช่น โลกใบเล็กของซัลมาน ของ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ (2533) แต่บริบทของเรื่องที่นำเสนอก็ยังเป็นแนวเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่ว่า “ทุน” ที่เข้ามาในหมู่บ้านของกนกพงศ์นั้น มีความซับซ้อนและมีเล่ห์กลมากกว่า หมู่บ้าน ของ “สายตะวัน”

ต่อเมื่อ “ป่าแตก” ในปี พ.ศ.2523 ผมได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง เธอเข้ามาที่สำนักงาน โลกหนังสือ พร้อมกับแนะนำตัวเองว่า เรื่องสั้น หมู่บ้าน ที่ได้ลงพิมพ์ใน วันเวลาที่ผ่านเลย นั้นเธอเป็นผู้ส่งมาให้เอง และผู้เขียนเรื่อง หมู่บ้าน เป็นแฟนของเธอที่หลบหนี “เข้าป่า” ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอมาบอกให้ผมทราบว่า “สายตะวัน”เป็นใคร และแจ้งข่าวร้ายให้ทราบในเวลาเดียวกันว่า เขาถูกซุ่มยิงเสียชีวิต “ในป่า” เมื่อปลายปี พ.ศ.2522

3.วิวัฒน์ รุจทิฆัมพร : จำเลยมนุษยธรรม

ในสังคมที่มีวุฒิภาวะเรื่องประชาธิปไตย ทุกคนอยู่ต่อหน้า “กฎหมาย” เท่าเทียมกัน กฎหมายคือบริบทที่จะแสดงรูปธรรมของจิตวิญญาณว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน กฎหมายก้าวหน้า หรือล้าหลัง กฎหมายเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม องค์ประกอบของกฎหมาย เช่น ศาล ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นั้นเป็นอย่างไร น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่วงวรรณกรรมบ้านเรา แทบไม่มีบริบทในประเด็นเกี่ยวกับ “กฎหมาย” เอาเลย แม้นักเขียนในอดีตที่เรียนมาทางกฎหมายจะเขียนเรื่องสั้นว่าด้วยกฎหมายอยู่บ้าง เช่น อัศนี พลจันทร์ “อ.ไชยาคำ” (อดีตผู้พิพากษา จำนามจริงไม่ได้) “ศรี สารคาม” (นามปากกาของ ทองใบ ทองเปาด์) และในงานเขียนบางชิ้นของ ชวน หลีกภัย และทวีป วรดิลก แต่ในภาพรวมทั้งหมดของเรื่องสั้นไทยตลอดเวลา 80 ปีนับจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา เรามีเรื่องสั้นไทยที่แสดงบริบทเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายอยู่น้อยมากๆๆๆ แม้ว่าจะมีงานเขียนประเภทเรียกหาความยุติธรรมอยู่ไม่น้อย แต่ลีลาและบรรยากาศในรูปแบบที่หนังฝรั่งเรียกว่า courtroom drama ที่นำเอาประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมายมาเป็นตัวนำเสนอนั้น แทบเรียกว่าไม่มีเอาเลย ซึ่งก็หมายความไปถึงว่า งานเขียนในรูปแบบที่เป็น “รหัสคดี” (คำของ เรืองเดช จันทรคีรี) หรือแนว “สืบสวน-สอบสวน” แทบจะไม่เติบโตและไม่มีปรากฏเอาด้วย แต่ก็มีเรื่องสั้นแนวเรียกหาความยุติธรรมที่ไม่ใช่ลักษณะ courtroom drama อยู่บ้าง เช่น ดวงจักษุของท่านผู้พิพากษา ของ “ดอกไม้สด” (ศรีสมเด็จ : 2477) ความยุติธรรม ของอัศนี พลจันทร์ (สยามสมัย : 2497) ความยุติธรรม ของ เจญ เจตนธรรม (สยามสมัย : 2499) ความยุติธรรมอยู่ที่นี่ ของ มนัส สัตยารักษ์ (ชาวสยาม : 2512) หรือที่มีบรรยากาศอยู่บ้างก็เช่นนิยายนักสืบของ “แชน เชิดพงษ์” (อีกนามปากกาหนึ่งของ “ช. แสงเพ็ญ” นามจริงคือ ชั้น แสงเพ็ญ ) และในนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่ “สาย สีมา” เป็นทนายความให้ชาวนาผู้ถูกไล่ที่ แต่เราก็ไม่เห็นสิ่งที่เรียกว่า courtroom drama ที่เป็นฉากการต่อสู้ในศาล นักเขียนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีอยู่บ้าง เช่น ณรงค์ นิติจันทร์ แต่ที่เขียนออกมาเป็นเรื่องสั้นแนว courtroom drama ผมเข้าใจว่ามีอยู่คนเดียวเท่านั้น คือรวมเรื่องสั้นชุด ยอดทนาย (สำนักพิมพ์หนอน 2516) ยอดทนาย 2 (สำนักพิมพ์หนอน 2516) การต่อสู้ (สำนักพิมพ์หนอน 2518) และ ประชาธิปไตยฝืด (สำนักพิมพ์หนอน 2518) เรื่องสั้นที่ชื่อ จำเลยมนุษยธรรม และอีกหลายเรื่องที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้นทั้ง 3 เล่มของเขานั้นมีลักษณะเป็นเรื่องสั้นแบบ courtroom drama ที่ไม่มีปรากฏมากนักในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ บางทีจิตวิญญาณประชาธิปไตยในสังคมบ้านเราคงเติบโตไปทางอื่นก็ได้ (เช่น “เรื่องผี” หรือเรื่องชิงรักหักสวาทประเภท “คนสามัญอย่างแกจะมาแต่งงานกับลูกชายฉันได้อย่างไร” แต่ความเข้มข้นของเนื้อหาเกี่ยวกับ “ตัวบทกฎหมาย” กลับมีงานเขียนในรูปแบบ fiction น้อยมาก (รวมทั้งที่เป็นละครโทรทัศน์ทั้งหลายด้วย) คงจะจริงที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า งานวรรณกรรมสมัยใหม่ของเรายังติด “หล่มน้ำเน่า” ไม่ผิดแผกไปจากเมื่อ 50 ปีก่อน จิตวิญญาณประชาธิปไตยในสังคมแบบ “พุทธๆผีๆ” แห่งนี้มักจะเหไปทางความคิดแบบไสยศาสตร์มากกว่าความคิดแบบวิทยาศาสตร์สังคม [social science] วาทกรรมการต่อสู้ว่าด้วย “เหตุผลทางกฎหมาย” (เช่นกรณี “คณะนิติราษฎร์” กับมาตรา 112) แทบไม่มีปรากฏให้เห็นในหมู่นักเขียน นักประพันธ์ไทยเอาเลย และสิ่งนี้เองที่ทำให้งานเขียนแนว “รหัสคดี” ของเราพลอยเหี่ยวเฉาไปด้วย เช่นเดียวกับงานเขียนแนว “ไซ-ไฟ” ที่เรียกว่า science fiction ก็แทบไม่เติบโตเอาเลย (ยกเว้นอยู่บ้างที่เป็น “ไซ-ไฟ” และ “ไซ-แฟนตาซี” ของ “ชัยคุปต์” นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ โกศล กลมกล่อม สมภพ นิลกำแหง และ “รหัสคดี” ของ “สรจักร” และ วินทร์ เลียววาริณ) เรื่องสั้น จำเลยมนุษยธรรม ของ วิวัฒน์ รุจทิฆัมพร กล่าวถึงการต่อสู้ทางกฎหมายของทนายคนหนึ่งที่เข้าไปค้นหาความจริงเพื่อว่าความให้นักโทษคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าลูกของตนเอง เนื้อหาในลักษณะแบบนี้ และที่มีซับซ้อนในชีวิตจริงมากกว่านี้ (เช่นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีโทษสูงสุด 15 ปี ตามกฎหมายอาญามาตรา 112) ผมไม่ค่อยเห็นตัวอย่างปรากฏในเรื่องสั้นและนวนิยายของไทยปัจจุบัน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่านิยาย ที่กล่าวว่านักเขียนไทยตาม “ข่าวพาดหัว” ประจำวันไม่ทันนั้นคงน่าจะเป็นความจริง การไม่ปรากฏเนื้อหาในบริบท “การต่อสู้ทางกฎหมาย” หรือ courtroom drama นี่เองก็ได้ที่ทำให้เราไม่ค่อยเห็นรูปธรรมของคำว่า “จิตวิญญาณประชาธิปไตย”ในงานเรื่องสั้นไทยมากนัก และสำหรับนวนิยายของไทยนั้น อย่าไปหวังเลยว่าจะมีงานเขียนที่ “เร้าใจ” ในเนื้อหาแบบเดียวกับนวนิยายของจอห์น กริแชม หรือ To Kill a Mockingbird ของ ฮาร์เปอร์ ลี

4.ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ : ฝ่ายชนะ

ชื่อนี้เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ได้รับการประเมินไว้ค่อนข้างต่ำเช่นเดียวกัน ทั้งที่เขามีงานเขียนคุณภาพไม่ต่างไปจาก “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ นักเขียน “รางวัลศรีบูรพา” และนักเขียน “รางวัลซีไรต์” หลายคน นอกจากงานเรื่องสั้นเขายังมีงานบทกวี นวนิยาย บทละคร และความเรียง ในฐานะของคอลัมนิสต์อีกนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ความคิดรักความเป็นธรรมที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนมาฝักใฝ่ในศาสนธรรม ไม่ผิดไปจากกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในช่วงกลางของชีวิต งานเขียนเรื่องสั้นของชัชรินทร์ใช้สายตา “แบบนักหนังสือพิมพ์” ซึ่งเขาเองเคยเป็นทั้งนักข่าวและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน แม้ในบางครั้งจะถูกมองว่าภาษาเร่งรีบไม่เรียบลื่น แต่ก็ตรงนั้นเองที่เป็นความจริงจังและจริงใจมาตั้งแต่สมัยที่เขายังมีความคิดแบบ “ซ้ายๆ” เหมือนคนหนุ่มสาวแสวงหาในรุ่นก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กล่าวคือเชื่อมั่นในแนวความคิดแบบสังคมนิยม และความมี “ภราดรภาพ”ในเพื่อนมนุษย์

"พญาโหงบนโลงแก้ว" เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวีที่รวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2518 เนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาในครอบครัว “ชนชั้นกลาง” ที่มีปัญหาเรื่อง “จุดยืน”ทางการเมือง เรื่องสั้นสมัยแรกเช่น การต่อสู้กับเทวดา เขากล่าวถึงนักเขียนคนหนึ่งที่ติดคุกฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” เพราะเขียนบทความไปลงหนังสือพิมพ์ ชัชรินทร์นำเสนอภาพในครอบครัว “ชนชั้นกลาง” อย่างขำขื่นและแสดงความขัดใจต่อระบบความยุติธรรมที่เขาอยาก “ฟันตราชูออกเป็นสองซีก” และกล่าวว่าผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์อยู่นั้น “ไม่ใช่เทพเจ้า” หลายเรื่องสั้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เขาแสดงความแปลกแยกของชีวิตเมืองไว้อย่างถึงที่สุด เช่นเรื่อง รถเมล์ ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร มหาชน รายเดือน ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 : ธันวาคม 2517 เป็นงานเขียนแบบเรื่องสั้น-สั้น ที่กระชับและส่งพลังทันที เล่าถึงหญิงสาวท้องแก่ที่คลอดลูกบนรถเมล์ แต่รถเมล์คนแน่นมาก เมื่อเด็กคลอดออกมาจากแม่ก็ถูก “ตีน”ของคนบนรถเมล์เหยียบตายทันที เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของชัชรินทร์คลี่คลายประเด็นขัดแย้งออกมาตาม “ประสบการณ์ตรง” ของเขาเอง ทั้งในเรื่องวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และเพื่อนพ้องในแวดวง เรื่องสั้นที่เข้มข้นในหลายยุคสมัยของเขา เช่น หมู่บ้านรถไฟ (ลลนา : สิงหาคม 2520) และ คนอ่านหนังสือ (ลลนา : มกราคม 2521) เรื่องสั้นทั้ง 2 นี้ ผมเคยส่งให้ ดร.เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน แปลเป็นภาษาอังกฤษ (38) กล่าวได้ว่างานเขียนของชัชรินทร์ในภาพรวมมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแบบ “ปลายเปิด” แม้เขาจะแค้นเคืองในระบบ แต่เขาก็เป็นตัวของเขาเอง เช่นเรื่องสั้น ฝ่ายชนะ (ลลนา : 2532) ที่เขียนถึงเพื่อนบนโต๊ะพนัน เขาเขียนเหมือนนำเอาประวัติศาสตร์ของสังคมไทยยุคหลัง “ป่าแตก” มาแสดงจุดยืนของเพื่อนพ้องที่เปลี่ยนไป จะเรียกว่านี่คือตัวอย่างของ “วรรณกรรมบาดแผล”ที่เป็นรอยต่อของยุค “ป่าแตก” และ ยุคเศรษฐกิจ “ฟองสบู่”ในช่วงทศวรรษ 2530 ก็คงได้ เพื่อนพ้องพันธุ์ใหม่ที่ปรากฏในเรื่องสั้นเปรียบได้กับคนที่เลือกอยู่ข้าง “ฝ่ายชนะ” และบนโต๊ะพนัน มันไม่มีจิตวิญญาณอะไรทั้งนั้น นอกจากถ้อยคำเยาะเย้ยประเภท “ใครไม่ทันเป็นคนหลงทาง” อ่านแล้วทำให้นึกถึงเพื่อนพ้องที่กำลัง “ฝุ่นตลบ”กันอยู่ในปัจจุบัน

5. วิสา คัญทัพ : เรือลำใหม่

ไม่ว่าจะ “ทำการเมือง”แบบไหน นักเขียนนามนี้ปฏิเสธเขาไม่ได้ วิสา คัญทัพเขียนเรื่องสั้นไว้ไม่น้อย แต่ในวรรณมาลัย 2 เล่มของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (รวมเรื่องสั้นไทยสมัยหลัง พ.ศ.2475 จาก 41 นักเขียนไทย) และของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (40 เรื่องสั้น 40 บทกวี 40 ปีสมาคมนักเขียนฯ) กลับไม่มีเรื่องสั้นของเขาปรากฏให้เห็น วิสาชอบกล่าวถึง “อารมณ์ทางชนชั้น” และมองความเป็นไปของสังคมแบบนักอุดมการณ์ ไม่ผิดแผกไปจากนักเขียนเรื่องสั้น “เพื่อชีวิต”ในรุ่นทศวรรษ 2490 ที่มีความเป็นกลไกสูง จากเรื่องสั้น งานชุมนุมของคนบ้า ที่ปรากฏครั้งแรกในรวมเรื่องสั้นและบทกวีชุด เราจะฝ่าข้ามไป (2515) จนถึง เรือลำใหม่ ที่เป็นเรื่องสั้น “ในป่า” (ไม่ทราบแหล่งที่มาชั้นต้น แต่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 2 ใน เรือลำใหม่ สำนักพิมพ์นกฮูก 2523) วิสาแสดงเส้นทางอันขรุขระของเขาที่ได้พบเจอมาบนถนนประชาธิปไตย จากความคิดแบบเสรีจนถึงความคิดแบบรวบยอด เรือลำใหม่ ของวิสาในปี พ.ศ.2523 มีชื่อว่า “เรือรบรวี” ซึ่งเขากล่าวในครั้งนั้นว่า “..มั่นคงแข็งแรง มีสมรรถภาพสู้รบในระดับที่แน่นอน ที่สำคัญมีนำร่องและกัปตันที่จัดเจนการเดินเรือ ผิดกับเรือแคนูลำเดิมที่อ่อนเยาว์เบาบาง ปล่อยให้เคว้งคว้างสุดแท้แต่จะลอยไปไหน” เมื่อเรือแคนูของเขาพบกับพายุทะเลบ้า เขากับเพื่อนพ้องที่คุ้นเคยกันในวาระนั้นจึงยอมรับ “..มือของชาวชนผู้ชูธรรม” ที่นำเขาขึ้นจากทะเลบ้า และทำให้ชีวิตใหม่ของเขา “…ถูกชูชุบขึ้นจากความปวดร้าวและคาวแค้น” วิสาได้พบเพื่อนเก่าที่หนีตายมาอยู่กับ “เรือรบรวี” หลายคน อาทิ “พระเจ้าหัวฟู” หรือ “พลเพลง พันตา” (คงจะหมายถึง สุรชัย จันทิมาธร) “ซาตานท้วม” (คงจะหมายถึง วีระศักดิ์ สุนทรศรี) “ภราดรผาแดง” (คงจะหมายถึง ล้วน เขจรศาสตร์) “นายมะขาม สนามหลวง” (คงจะหมายถึง ประเสริฐ จันดำ) และยังมีเพื่อนพ้องอีกหลายคนบน “เรือรบรวี” นั้น เช่น “ฆ.ระฆังคนยาก” (คงจะเป็น มงคล อุทก) และ “ทอนยา แดงสด” (ไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร ) เมื่อได้ขึ้นเรือลำใหม่แล้ว วิสาก็หวนไปทบทวนถึงเพื่อนพ้องที่กระจัดกระจายหายไป เช่น “สมมุติเทพจากบ้านสมเด็จ” (คงจะหมายถึง วินัย อุกฤษณ์) และ “มนุษย์จินตนาการหมายเลขหนึ่ง” (คงจะหมายถึง สุวัฒน์ –ทรนง ศรีเชื้อ) ฯลฯ จินตนาการในเชิงสัญลักษณ์ของ "เรือรบรวี" ที่วิสา คัญทัพบรรยายไว้ในเรื่องสั้น “รำลึกถึงเพื่อน” ทั้งรุ่นก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาชิ้นนี้ เขาคงจะมีอารมณ์หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั่นเอง วันเวลาผ่านเลยไม่ถึงร้อยปี จากเรื่องสั้น เรือลำใหม่ เมื่อ พ .ศ.2523 วิสาก็ยังเป็นวิสาที่มีรสชาติเหมือนเดิม แต่ “เรือลำใหม่ที่ใหม่กว่า” ของเขานั้นไม่มีคนชื่อ “พระเจ้าหัวฟู” หรือ “พลเพลง พันตา” อนิจจา..บนเส้นทางแห่งจิตวิญญาณดวงนี้ โลกรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ ถ้า อ่านเรื่องสั้นของวิสา คัญทัพเรื่องนี้จบแล้ว ขอแนะนำให้อ่านเปรียบเทียบกับเรื่องสั้น เรือลำใหม่ ของ ชมัยภร แสงกระจ่างด้วย เรือลำใหม่ของชมัยภรลำนี้ไม่ทราบปีที่มาและแหล่งที่มาครั้งแรกของเอกสารชั้นต้น แต่จะหาอ่านได้ในวรรณมาลัยชุด ดาวส่องเมือง ของสมาคมนักเขียนฯ เมื่อ พ.ศ.2541 เรือลำใหม่ที่ชมัยภรเปลี่ยนมาได้ด้วยความปีตินั้น ก็มาจากเหตุที่เรือลำเก่าที่นั่งไปทำงานนั้นเกิดมี “รูรั่ว” ขึ้นมากะทันหัน ใครจะไปนั่งอยู่ในเรือที่กำลังจะล่ม ตรงข้ามกับ “เรือลำใหม่ที่ใหม่กว่า”ของวิสา คัญทัพ ในปัจจุบันที่เขาคิดว่าคงจะมั่นคงแข็งแรงมากกว่า “เรือรบรวี” ในอดีต แต่เรื่องนี้เพื่อนของเขาที่ชื่อ “พลเพลง พันตา” อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ ความหลากหลายแบบนี้แหละครับ คือจิตวิญญาณประชาธิปไตย และโลกทัศน์แบบนี้ก็ไม่ใช่ “สลิ่ม” ด้วย

6. ประเสริฐ จันดำ : ลงจากภู

น่าเสียดายที่ประเสริฐ จันดำลาจากเพื่อนพ้องไปก่อนวัยอันควร เขาเองก็เคยอยู่บน “เรือรบรวี” มาพร้อมกับวิสา คัญทัพ และเพื่อนพ้องอีกหลายคน ประเสริฐ จันดำในวัยหนุ่มเป็นเหมือนภาพแทนของ “ตัวตน” ที่หลากหลาย แม้หลายคนจะคิดว่าเขาขี้เมา แต่ “…เหล้าดีก็เมาดีนะ เฒ่าโพล้ง” ประเสริฐเขียนหนังสือได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องผี (นามปากกา “ดอน ไผ่งาม”) จนถึงเรื่อง “สู้รบ” ในหลายนามปากกา ถ้าอ้างถึงวิสา คัญทัพ วัฒน์ วรรลยางกูล สมคิด สิงสง อุดร ทองน้อย “ยงค์ ยโสธร” “คมทวน คันธนู” “รวี โดมพระจันทร์” “พนม นันทพฤกษ์” “ศิลา โคมฉาย” อัศศิริ ธรรมโชติ ฯลฯ เราต้องไม่ลืมนึกถึงประเสริฐ จันดำด้วย แต่แล้วประเสริฐดูเหมือนถูกประเมินไว้ต่ำ วรรณมาลัยที่คัดสรรเรื่องสั้นไทยในรอบ 80 ปี และ 40 ปี ก็ปรากฏว่าไม่มีเรื่องสั้นและบทกวีของประเสริฐ จันดำรวมอยู่ด้วย ทั้งที่เขามีงานเขียนความหลากหลายตั้งแต่หนังสือระดับล่างและหนังสือระดับบน ประเสริฐดำรงความเป็นศิลปินที่อยู่ “นอกระบบ” ตลอดชีวิต งานเขียนของเขาเป็นงานง่ายๆ “ชั้นเดียว” และไม่มี “กลไกการเมือง” ที่ซับซ้อน ทั้งที่เขาปวารณาตัวเองให้กับ “คนชั้นล่าง” เมื่อพูดถึงควาย เขาก็หมายถึงควายจริงๆ ไม่ใช่หมายถึง ควายแดง ควายเหลือง หรือ “ควายเผือก” ประเสริฐ จันดำเป็นทั้ง “คนนอก” และ “คนนอกคอก” เขาแต่งบทกวีได้ เขียนเรื่องสั้นได้ แต่จะให้เขาเป็นนักรบในเสื้อสีใด ผมก็ยังสงสัยเหมือนกันว่าเขาจะ “ทน” ได้แค่ไหน ประเสริฐเป็น “ต้นหญ้าแห่งความคิดอิสระ เขาทดลองใช้ชีวิตตั้งแต่ลงไปอยู่ใน “เรือรบรวี” จนต่อมาฝักใฝ่เข้าเป็นสาวกผู้ศรัทธาใน “พระผู้เป็นเจ้า” แต่กระนั้นก็ยังรู้สึกเป็น “คนนอก” ที่ล้มเหลวมาตลอด เขาเป็นหนึ่งในสองของ “พระจันทร์เสี้ยว” ที่ผมผูกใจในความเรียบง่าย ประเสริฐ จันดำ คือคนแรก และตั๊ก วงศ์รัฐฯ คือคนหลัง ความหลากหลายอันเป็น “วัฒนธรรมดา” (คำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ) ที่หลายคนเห็นว่า เขาคือไอ้ขี้แพ้ – the loser นั่นกระมังที่ทำให้ผมยังรำลึกถึงเขาเสมอ และเรื่องสั้นที่เป็นตัวแทนของ “วรรณกรรมบาดแผล” ที่ดีที่สุดของเขาก็คือเรื่อง ลงจากภู (เขียน พ.ศ.2522 พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี แดนดินดาลเดือด สำนักพิมพ์นกฮูก พ.ศ.2525) เนื้อหาชั้นเดียวของเรื่องสั้น ลงจากภู ให้ความสะเทือนใจตรงที่ “เขา” (สหายผอง) เดินข้ามคืน คืนแล้วคืนเล่า ผ่านการซุ่มโจมตีของศัตรู เขาลาจาก “เรือรบรวี” ละทิ้งเครื่องแบบ “ทหารป่า” และยอมรับความพ่ายแพ้เพราะคิดถึงบ้าน และคิดถึงพ่อกับแม่ “…ที่มีหนี้สินตกค้าง…เนื่องจากไปกู้เงินมาไถ่ตัวเขาออกจากกรงขัง ข้อหาที่ทางการตั้งว่าส่งเสบียงให้พวกในป่า” เนื่องจากเขา “…ถูกจับไปขังที่โรงพักอำเภอ” และ “ทางตำรวจเรียกเอาเงินห้าพันบาท…” แต่เมื่อเขาลอบกลับมาบ้าน พ่อของเขาก็แปลกใจ พูดเสียงปกติว่า “มีธุระอันหยัง กลางค่ำกลางคืนอย่างนี้ ไม่เห็นบอกพ่อมาล่วงหน้า…” ลูกชายจึงตอบให้พ่อกับแม่ที่อยู่ตรงหน้าฟังว่า “พ่อ ข้อยออกจากป่าละ อยากมาอยู่บ้านเฮา” ทุกอย่างน่าจะจบลงอย่างปีติ แต่พ่อกลับพูดว่า “เป็นหยังจึงออก มันทุกข์ยากหยังแท้อยู่ในป่า ปืนก็มีอยู่ในมือแท้ๆ หรือว่าผ่านตาย (กลัวตาย)” ประโยคดังกล่าวเหมือนของมีคมมาแทงความรู้สึกของผอง เขา พยายามอธิบายให้พ่อฟัง แต่พ่อของเขากลับตัดบทว่า

“ให้มึงบวช มึงก็ขอสึก ให้มึงปฏิวัติมึงก็ยังเป็นอย่างนี้อีก ช่างบ่เอาถ่านแท้ๆ…ถ้ามึงเห็นว่าอยู่บ้านดีกว่าอยู่ป่าให้มึงอยู่เอา ทำนาใช้หนี้เขาที่ยืมไถ่ตัวมึงจากคอก หรือไม่อย่างนั้นจะไปตายที่ไหนก็ไป…”

ลูกชายที่ชื่อ “ผอง” ไม่ต่อคำของพ่อ “…จะว่าอย่างไรก็ช่าง ไหนๆ เขาก็ลงจากภูมาแล้วนี่นา พูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร พ่อกับเขามันคนละคนกัน จะให้มาคิดอ่านเหมือนกันได้อย่างไร”

ประเสริฐ จันดำ จบประโยคเรื่องสั้น ลงจากภู ไว้เช่นนั้น และตรงที่เขาเขียนว่า “…จะให้มาคิดอ่านเหมือนกันได้อย่างไร” นี่แหละที่ผมคิดว่าคือพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตย

แดนดินที่ดาลเดือด ของประเสริฐ จันดำ ยังเห็นปรากฏต่อมาให้ “เดือดดาล” อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะมีเรือชื่อ “รบรวี” หรือในชื่อใหม่อื่นใดก็ตาม ประเสริฐก็คือประเสริฐ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ บางทีเขาอาจถูกเพื่อนพ้องประณามว่าเป็น “โรคประจำศตวรรษ” ก็เป็นได้

7.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : พลเมืองดี

ไม่ว่าเสกสรรค์จะมีบทบาทผ่านมาแบบไหน เหนือสิ่งอื่นใด จิตวิญญาณของเขาคือจิตวิญญาณของศิลปิน การประเมินค่าในงานเขียนของเสกสรรค์ อ.รื่นฤทัยได้ทำไว้อย่างดีแล้ว โดยเฉพาะในแง่การใช้ภาษาของเขาที่ใช้คำเท่ากับความ และความเท่ากับคำ เสกสรรค์มีความคิดที่คมคาย คือมีทั้ง ‘คม’ และ ‘คาย’ ไปพร้อมกัน สิ่งที่ปรากฏในงานเขียนของเสกสรรค์คือการนำเอาประสบการณ์ ซึ่งเป็น the real thing ของตนมาใช้อย่างซื่อสัตย์ และใช้ภาษาเป็นตัวนำเข้าสู่หัวใจแห่งความเป็นอิสรชน งานเขียนในรูปแบบประสบการณ์ของเสกสรรค์ สะท้อนความคิดของเขาที่มีต่อโลกและชีวิต เมื่อแพ้ก็แพ้ ไม่มีการฟูมฟาย อ่านประสบการณ์ของเขาเหมือนอ่านบทบันทึกทางจิตวิญญาณ และเป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับ “มนุษย์” และ “ความเป็นมนุษย์” ไปพร้อมกัน ฤดูกาล เป็นงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีที่เขาเขียนขึ้นขณะอยู่ “ในป่า” และเป็น “ของรักของหวง” ของเขาที่นำติดตัวออกมาได้อย่างเดียวเมื่อเข้ามอบตัวในฐานะ “ผู้แพ้สงคราม” ฤดูกาล เป็นงานเรื่องสั้นและบทกวีเล่มแรกที่สำนักพิมพ์ดวงกมลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2524 หนังสือเล่มนี้เขาอุทิศให้ “แม่” ที่เสียชีวิตขณะเมื่อเขายังอยู่ “ในป่า” การนำเสนอเรื่องสั้นของเสกสรรค์แม้จะมีลักษณะแบบเรื่องสั้น-สั้นในระยะแรก แต่หลายเรื่องที่ปรากฏใน ฤดูกาล และอีกหลายชิ้นงานในช่วงทศวรรษต่อมา คือการถ่ายทอดความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน แม้จะบอกตัวเองว่าไม่ใช่ “นักปฏิวัติ” ในความหมายของนักต่อสู้ทางอุดมการณ์อีกต่อไป แต่เขาก็มีจิตสำนึกของผู้รักความเป็นธรรม และรู้เท่าทันเล่ห์กลของ “ปัจจุบันขณะ” และที่กล่าวถึงเสกสรรค์ ณ ที่นี้ก็เพื่อนำเรื่องสั้นในชื่อ พลเมืองดี ที่เขาเขียนไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2522 มาเทียบกับเรื่องสั้นไทยในอดีตอีก 2 เรื่อง ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า พลเมืองดี เหมือนกัน เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ พลเมืองดี ของ “ดอกไม้สด” พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เอกชน รายเดือนเมื่อ พ.ศ.2490 และเรื่องสั้นเรื่องที่ 2 คือ พลเมืองดี ของ “ลาว คำหอม” (นามปากกาของ คำสิงห์ ศรีนอก) พิมพ์ครั้งแรกใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อเดือนมีนาคม 2514 คำว่า “พลเมืองดี” ในเรื่องสั้นทั้ง 3 ที่มี “มิติเวลา” ต่างกันนี้ ล้วนเสนอให้เห็นค่านิยมของราษฎรในระบอบประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไป เริ่มต้นจาก พลเมืองดี ของ “ดอกไม้สด” กล่าวถึงการตกลงกันเองระหว่างเจ้าของวัวกับโจรเรียกค่าไถ่วัว โดยไม่รอพึ่งกฎหมายบ้านเมือง ผู้ทำหน้าที่เป็น “พลเมืองดี” นำเรื่องไปแจ้งอำเภอจึงกลายเป็นพลเมืองดีที่ “เสือก”ไม่เข้าเรื่อง ส่วนเรื่อง พลเมืองดี ของ “ลาว คำหอม” กล่าวถึง “คุณลุง”ชาวไร่ข้าวโพดคนหนึ่ง ที่ไปแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภอให้ช่วยจับ “นายทุน” ที่ส่งมือปืนมาลอบยิง เพราะต้องการฮุบที่ดินของตน “…ท่านช่วยผมด้วยนะครับ ผมไม่เคยเบียดเบียนใคร ผมเป็นพลเมืองดี” คุณลุงกล่าว เจ้าหน้าที่จึงยกคณะไปตรวจดูที่เกิดเหตุ และตอนขากลับได้แวะที่ “ร้านอาหารที่ดี (แพง) ที่สุดของอำเภอ” ความสำราญในการดื่มกินของเจ้าหน้าที่รัฐ ณ ร้านอาหารครั้งนี้ “…เปลืองเวลาพอๆ กับใช้ในการเดินทางทั้งไปและกลับรวมกัน” และเมื่อทุกคนดื่มกินกันจนอิ่มหนำแล้ว “ท่านผู้ใหญ่” คนหนึ่งในกลุ่มก็ “…ค่อยๆ เอี้ยวตัวชำเลืองหาคุณลุง ซึ่งนั่งจ๋องอยู่กับภรรยาที่โต๊ะห่างออกไป…” พร้อมกับเอ่ย “ปิยโวหารสองสามประโยค” ทำให้คุณลุงชาวไร่ข้าวโพดผู้ไม่เคยเบียดเบียนใคร “…ต้องพยุงกายลุกขึ้นทำหน้าที่ของพลเมืองดีอีกครั้งหนึ่งด้วยการควักธนบัตรใบแดงๆ ออกจ่ายเป็นค่าสุราอาหารมื้อนั้น”

สำหรับ "พลเมืองดี" ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เขียนห่างจาก พลเมืองดี ของ “ดอกไม้สด” 32 ปี และห่างจาก พลเมืองดี ของ “ลาว คำหอม” 8 ปี คำว่า “พลเมืองดี” ที่เป็นตัวละครของเสกสรรค์มีความเป็นสีเทาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ขาวจัดดำจัดเหมือนเช่นบริบทของเรื่องสั้น 2 เรื่องที่เขียนมาก่อนหน้า คือเสกสรรค์ตั้งคำถามว่า การทำความดีคืออะไร ขอทานคนหนึ่งช่วยจับคนร้ายที่วิ่งราวสายสร้อยของหญิงวัยกลางคนท่าทางร่ำรวยคนหนึ่ง นางใส่สายสร้อยเส้นโตมาทำบุญที่วัดใหญ่โตและมีชื่อเสียงว่าเป็นวัด “พุทธพาณิชย์” ที่สำคัญของประเทศ คนร้ายที่วิ่งราวนั้นต้องการจะเอาสายสร้อยไปหาเงินรักษาแม่ที่กำลังเจ็บ เมื่อขอทานที่ทำตัวเป็น “พลเมืองดี” ช่วยจับคนร้ายได้ หญิงเจ้าของสร้อยผู้นั้นก็เพียงโยนเศษเงินเหรียญให้ขอทานผู้นั้น แต่ก็แสดงท่าทีรังเกียจที่ขอทานผู้นั้นเป็นโรคเรื้อน นางด่าทอคนร้ายที่ถูก “พลเมืองดี”ช่วยจับว่าเป็นโจรใจบาป ส่วนขอทานที่ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีก็มารู้ภายหลังว่า แม่ของคนร้ายนักวิ่งราวคนนั้นคือแม่ค้าขายข้าวแกงที่เคย “ให้ข้าวแกง”เขากินหลายครั้ง ขอทานรู้สึกเสียใจ และนึกสงสัยว่าสิ่งที่เขาเป็น “พลเมืองดี” มันกลับทำร้ายผู้ที่เมตตาให้ข้าวแกงเขากิน เขารู้สึกสับสนว่าเขาเป็น “พลเมืองดี” จริงๆ หรือ หรือเขาเป็นใครกันแน่ แม้แต่นักวิ่งราวลูกแม่ค้าขายข้าวแกงคนนั้นยังเยาะเย้ยเขาด้วยซ้ำว่า “…นึกหรือว่าคนเขาจะนับมึงเป็นพลเมืองด้วย” นี่คือความดีสีเทาในยุคปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยภาพของ “คนดี” ท่านลองเปรียบเทียบคำว่า “พลเมืองดี” ในระบอบประชาธิปไตยของนักเขียนไทยทั้ง 3 คนกันเอาเอง

นักเขียน “ฝ่ายบุรุษ” ที่ยกมาเป็น “น้ำจิ้ม” เหล่านี้เป็นเพียงหยิบเดียวของภาพสะท้อนบางอย่างที่ยังมีเพื่อนร่วมเส้นทางในวันเวลาดังกล่าวอีกนับร้อย และยังไม่นับนักเขียน “ฝ่ายสตรี” ที่มีจำนวนใกล้เคียงไม่แพ้กัน (ไม่ใช่อัตราหญิง 1 ต่อชาย 7 แบบวรรณมาลัยของสมาคมนักเขียนฯ และกระทรวงวัฒนธรรม) ไม่ว่านักเขียน “ฝ่ายบุรุษ” หรือนักเขียน “ฝ่ายสตรี” เราสามารถนำมาพินิจพิเคราะห์ในประเด็น “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ได้เท่าเทียมกัน และ “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ของผมนั้นไม่ได้หมายแคบเพียงคำว่าวรรณกรรมการเมือง เหมือนที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสมาคมนักเขียนฯเรียกว่า วรรณกรรมการเมือง พานแว่นฟ้า (39) กล่าวคือวรรณกรรมในทุกรูปแบบเนื้อหาไม่ว่าอยู่ใน “ยี่ห้อ” ใด ผมคิดว่าเราสามารถให้ความหมายทางการเมืองได้ทั้งนั้น การที่ พานแว่นฟ้า มีวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อสืบสานสร้างสรรค์ วรรณกรรมการเมือง ให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย” หมายความว่าถ้าไม่เรียกว่า “วรรณกรรมการเมือง” แล้วก็จะไม่ปลุก “จิตสำนึกประชาธิปไตย” เช่นนั้นหรือ และเมื่อมองดูจากภาพรวมของเรื่องสั้นการเมือง “พานแว่นฟ้า” ที่ประกาศผล “ชนะเลิศ” และ “รองชนะเลิศ”ผ่านมา 4 ครั้ง ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีบริบทที่แตกต่างไปจาก “เรื่องสั้นร่วมสมัย” โดยทั่วไป ทำไมต้องเอาคำว่า การเมือง มาผูกติดให้น่ารำคาญ นอกจากนั้น วัตถุประสงค์ที่บอกว่า “เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมือง…” ก็มีตัวอย่างที่ย้อนแย้งให้เห็น เช่นกรณีเรื่องสั้น พญาอินทรี ของ จรัญ ยั่งยืน (40) ที่ไปเขียนถึงอำนาจฉ้อฉลของ “นักการเมืองไทย” จนเกิดเป็นอคติทำให้พลาดรางวัล (ทั้งที่เรื่อง พญาอินทรี เป็นเรื่องสั้นที่ธรรมดามากในมาตรฐานแบบ ช่อการะเกด ) เรื่องสั้นการเมือง พานแว่นฟ้า ถ้าจะ “…ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมือง…” แล้วไซร้ มันต้อง “ปลายเปิด” ให้ผู้สร้างเขาก้าวไปก่อน 1 ก้าว ไม่ใช่ไปจำกัดด้วยคำว่า การเมือง ไว้ล่วงหน้า “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” เป็นจิตวิญญาณที่ “อิสระ” เพื่อสร้างให้ประชาธิปไตยมีภูมิคุ้มกันในตัวมันเอง ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าของตนเท่านั้นเป็นของแท้ ส่วนที่ต่างออกไป – ไม่ใช่ !

ผมอยากขอใช้ความเห็นบางตอนของ ธงชัย วินิจจะกุล ที่กล่าวไว้ในปาฐกถาเรื่อง ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา (ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2548) มาปิดท้าย

“…ประชาธิปไตยคือวิถีทางยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนปะทะขัดแย้งกันอย่างสันติ ให้สังคมปรับตัวท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ๆ ด้วยการยอมให้ความแตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน แล้วค่อยๆ ตัดสินใจเลือกทางเดินที่คนส่วนใหญ่พอใจ โดยไม่ต้องทำลายทางเลือกอื่นๆ

“ประชาธิปไตยมิใช่หมายถึงการยกย่องเชิดชูอย่างเพ้อฝันว่า ประชาชนถูกต้องเสมอ ฉลาด มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ แต่เราต้องมั่นคงกับหนทางที่ให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินทางเลือกของตนไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที…” (41)

ก่อนจบ ผมมีพล็อตเรื่องสั้นมาฝาก 2 เรื่อง และเพื่อความสบายใจ พล็อตเรื่องที่ว่านี้ขอให้อยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า “ไซ-ไฟ”

พล็อตเรื่องแรก : โลกอนาคตที่ไกลโพ้นออกไป 20,000 ปี ไกลมากแล้วนะครับ

อะไรจะเกิดขึ้น..ถ้าประเทศสยาม ณ เวลาอีก 20,000 ปีนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ!

พล็อตเรื่องที่สอง : โลกปัจจุบัน อะไรจะเกิดขึ้น…เมื่อ “มนุษย์ต่างดาว”

นำยานมาลงจอดที่สนามหลวง และได้พบกับคณะนักปราชญ์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศคณะหนึ่ง พวกเขาได้แนะนำให้ “มนุษย์ต่างดาว” รู้จักกับโครงการในพระราชดำริต่างๆ และได้บอกความลับให้ “มนุษย์ต่างดาว” รับรู้เกี่ยวกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” “มนุษย์ต่างดาว” รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง พวกเขานำยานกลับไปยังดวงดาวที่จากมา และเริ่มต้นโครงการตามแนวทางพระราชดำริและปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

พล็อตที่ว่ามานี้ถ้านำมาเขียน ท่านคิดว่าคณะกรรมการ “พานแว่นฟ้า” จะพิจารณาให้เรื่องไหนได้รางวัล

หมายเหตุ : พูดในงานประชุมทางวิชาการ "จิตวิญญาณประชาธิปไตยในเรื่องสั้นไทย" ของ อ.รื่นฤทัย สัจจพันธ์ ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้นฉบับที่ปรากฎนี้เคยพิมพ์ในนิตยสาร Vote รายสัปดาห์ ที่ จักรกฤษณ์ สิริริน เคยเป็นบรรณาธิการ ( จำไม่ได้ว่าเมื่อใด )

(บทความนี้ได้รับอนุญาตจาก คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในการเผยแพร่ซ้ำในเวบเพจเม่นวรรณกรรม)

Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page