top of page

Big Bad Wolf 2018



งานหนังสือ Big Baf Wolf (BBW)ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว !!! (เครื่องหมายตกใจ 555)

ก่อนถึงรีวิวงานคงต้องแนะนำว่า Big Bad Wolf คืออะไร คืองานหนังสือภาษาต่างประเทศที่นำเอาหนังสือที่อยู่ในคลังมาลดราคากระหน่ำ ใช่ครับ คอนเซ็ปต์คือลดกระหน่ำแล้วก็ทำจริงๆ เรามักไม่ค่อยได้เห็นแบบนี้สำหรับหนังสือต่างประเทศ ที่เราเคยได้ยินมาคือ หนังสือที่ขายไม่ออกส่วนมากแล้วเมื่อกลับสู่คลังของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็จะถูกนำไปสับทิ้ง รีไซเคิลกลับไปเป็นกระดาษอีกครั้ง


BBW ไม่ได้ทำที่ไทยเป็นที่แรกนะครับ ทำมาในแถบอาเซียนเรามาหลายปีแล้ว แต่ผมจำไม่ได้ว่าที่ไหนบ้างแล้วทำมานานเท่าไหร่แล้ว BBW Bangkok ก็เพิ่งเกิดขึ้นในสามปีนี้เท่านั้นเอง สามปีแต่ดูแล้วจะติดตลาดไม่ยาก


ส่วนหนังสือไทยที่ขายไม่หมด ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกสับทิ้ง สำนักพิมพ์เอามาลดเสมอๆ หรือบางทีไม่มีที่เก็บก็ต้องไปขายให้กับเจ้าที่รับซื้อหนังสือซึ่งพบว่าราคาแทบไม่ต่างจากเศษกระดาษ หนังสือที่กลับมาจากสายส่งก็จะถูกนำมาลดราคาอยู่แล้วตามงานหนังสือ


ดังนั้น BBW ก็เลยกลายเป็นของใหม่ แปลกตาขึ้นมา ทำให้นักอ่านได้ซื้อหนังสือต่างประเทศในราคาย่อมเยาว์ 


ในปีนี้ BBW กลับมาอีกครั้ง จัดขึ้นที่เดิมคือที่ Hall 9 อิมแพคอารีน่า งานนี้ผมเห็นโฆษณาครั้งแรกผ่าน FB ก็ต้องบอกว่าเขาทำแอดฯ ได้ดีทีเดียว เป็นภาพกราฟิกสวยงามเข้าใจง่าย และบอกว่าเทศกาลหนังสือมาถึงแล้ว วันเวลาไหนบ้าง ต้องยอมรับว่าเขายิงแอดฯ ตรงจุดมากผ่าน FB เพราะผมก็ไม่เคยเห็นแอดนี้ผ่านสื่อไหนเลยนอกจาก FB แล้วแถมยังกระตุ้นให้อยากไปอีก



การเดินทาง

งาน BBW จัดที่อิมแพคฯ เมืองทองธานี ต้องบอกว่าเป็นสถานที่แสดงงานที่เดินทางด้วยรถสาธารณะลำบากมากๆ เพราะไม่มีระบบขนส่งแบบรางเข้าถึง เอาจริงๆ ผมย้ายมาอยู่สามพรานสิบปีแล้ว บอกตามตรงว่าเวลาเข้าเมืองไปทำธุระทุกครั้งผมเดินทางด้วยรถยนตร์ส่วนตัวสะดวกที่สุด ถ้าจะให้นั่งรถสาธารณะตั้งแต่หน้าบ้านคำนวนแล้วต้องนั่งรถอย่างน้อย 3-4 ต่อ บวกกับเดินเท้า และใช้เวลาไปถึงกลางเมืองน่าจะไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมงสำหรับขาเดียว

ดังนั้นไม่ว่าไปไหนก็สะดวกด้วยรถยนตร์จริงๆ ไปงาน BBW คราวนี้ผมเดินทางด้วยรถยนตร์จากสามพราน ใช้ถนนบรมฯ มุ่งไปสะพานพระนั่งเกล้า แล้วมาขึ้นทางด่วนตรงงามวงศ์วาน เสียเงินสองต่อ รวมแล้วห้าสิบบาทมาลงตรงอิมแพคฯ เลย จากนั้นก็เลี้ยวขวาเข้าสู่อิมแพคฯ เดินทางจากสามพรานจนหาที่จอดรถบนตึกข้าง Hall 9 ใช้เวลาประมาณ 1.20 ชั่วโมง ถือว่าเร็วมากสำหรับคนไม่รู้ทางอะไรเลย แล้วก็ขับรถไม่เร็วมาก


ถ้ามารถส่วนตัวจอดรถในอาคารข้าง Hall 9 สะดวกที่สุดครับ ผมเองก็ไปมั่วๆ หาที่จอดรถในอาคารก็ไม่ยากนัก ช่วงวันธรรมดาหลังวันหยุดยาวคนไม่เยอะ ที่จอดรถถือว่าดีงาม จอดแล้วก็ถามยามว่างานหนังสือไปทางไหน ก็คือเดินไปด้านหลังขึ้นลิฟต์ไปชั้นสองจะมีจุดที่เชื่อมกับอาคารเก้า สะดวกกว่าที่คิด



ไปงานนี้แล้วต้องดูอะไรบ้าง

พอเข้าไปในสถานที่จัดงาน BBW จัดหมวดหมู่ใหญ่ๆ เอาไว้สามหมวดคือ หนังสือเด็ก หนังสือ Fiction และ Non-Fiction แล้วแต่ละหมวดใหญ่ๆ นี้ก็จะถูกแยกย่อยไปตามประเภท ตามแต่ละสไตล์ของหนังสือ ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ฮอลล์เดียวกัน หมายความว่าคุณจะไม่พลาดหนังสือในหมวดหมู่ใดเลยสักหมวด (ถ้ามีแรงเดิน 555)

ข้อดีที่หนังสือทุกหมวดหมู่อยู่ฮอลล์เดียวกัน นั่นหมายความว่าคุณสามารถไปในหมวดต่างๆ ได้ง่ายกว่าเดินงานหนังสืออื่นๆ ที่มีหลายๆ โซน แล้วไม่ต้องขึ้นชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง หรือต้องคอยเดินหาว่าโซนนั้นอยู่ตรงไหนของงาน บู๊ธนั้นอยู่หลืบไหนของโซน แต่ที่นี่คือฮอลล์เดียว แล้วแต่ละหมวดจะตั้งเป็น island (โต๊ะขนาดประมาณเมตรครึ่งสองตัว) คุณสามารถเดินดูหนังสือได้รอบโต๊ะ โซนวรรณกรรมจะมีอยู่สี่ห้า island จะเขียนว่า literature กับ general ผมแนะนำว่า literature คุณจะพบหนังสืออย่างเปาโล โคเอโญ กับ นิค ฮอร์นบี้ เป็นบล๊อคเซ็ตครบครัน แล้วยังมีหนังสือของเช็คสเปียร์, โรอัล ดาห์, เฮมมิงเวย์, มาร์เกซ และหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมโลก โนเบล นักเขียนจีน มีให้เลือกมากพอที่จะทำให้กระเป๋าเงินว่างเปล่า หรือตัวเลขในบัตรเครดิตรเพิ่มขึ้นในใบแจ้งหนี้ หนังสือมีทั้งปกแข็งและปกอ่อน ราคาต่ำสุดคือ 120 บาท หากชอบสะสมลองเลือกปกแข็งดูนะครับ โรมิโอแอนด์จูเลียต ของเช็คสเปียร์ปกแข็งเล่มใหญ่หนา ภาพประกอบเป็นกระดาษตัดสวยงามสมราคาน่าซื้อมาก

ส่วนหนังสือประเภท Non-Fiction มีความหลากหลายมาก ตั้งแต่พวกพัฒนาตนเอง ประวัติศาสตร์ แต่ที่ผมว่าเป็นไฮไลต์คือพวประวัติบุคคลสำคัญ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แล้วยังมีหลากหลายมากมายตั้งแต่นักธุรกิจประสบความสำเร็จ จนถึงนักกีฬา






ที่โดดเด่นไม่แพ้กันแล้วเป็นสีสันทุกปีคือหนังสือ “ทำอาหาร” ใครชอบรูปสวยๆ หรือเคล็ดลับอาหารตะวันตก ผมว่าคุ้มค่ามากๆ


อีกประเภทหนึ่งที่นิยมมากทีเดียวคือหนังสือกราฟิกดีไซน์ หนังสือศิลปะ หนังสือดนตรี หนังสือหนัง ปีนี้เล่มที่ดังมากๆ และหมดไปจาก island คือ หนังสือภาพถ่ายของ Sedastiao Salgado ช่างภาพคนนี้เคยมีผลงานมาแสดงเมืองไทยที่ BACC เป็นงานแสดงภาพที่ใหญ่มากและน่าตื่นตาตื่นใจงานหนึ่งของเมืองไทย งานแสดงภาพดังกล่าวทำให้คนไทยติดตามงานของเขามากขึ้น และงานนี้หนังสือของเขามีคนถามหากันมาก เอาจริงๆ ถ้างานนี้ BBW นำหนังสือรวมภาพของ Caravaggio มาขายอาจจะขายดิบขายดีอีกเล่มก็ได้


ผมไม่ได้เดินในส่วนของหนังสือเด็กนะครับ แต่เท่าที่ดูจากผู้ปกครองที่ซื้อหนังสือเด็กแล้วก็มีไม่น้อยเลย แล้วแต่ละเล่มก็น่าสนใจด้วย


จบงานนี้เดินไปสามชั่วโมงกว่า กระเป๋าฉีกกันไปตามๆ กันแม้ว่าหนังสือจะถูกก็ตาม 555



บทสรุปของงาน

เอาจริงๆ ผมเคยทำนายผิดคิดว่างาน BBW จะไม่รุ่ง แต่ตอนนี้เป็นปีที่สามแล้ว ผมว่า BBW เขาปักธงได้แล้วที่อิมแพคฯ ที่ทำนายผิดเพราะคิดว่าหนึ่งอิมแพคฯ ไปยาก สองหนังสือภาษาอังกฤษอาจจะมีกลุ่มคนอ่านไม่มากพอ และสามคนไทยเห่อของใหม่เดี๋ยวก็หายเห่อ


นอกจากนั้นงาน BBW ยังมีช่วงเวลาพิเศษคือเปิดจนดึก ไม่แน่ใจปีนี้มีถึงรุ่งเช้าหรือเปล่า ผมเคยไปตอนเที่ยงคืนปรากฏว่าคนเต็มฮอลล์เลย สรุปว่าหนอนหนังสือนอนดึก หรือตื่นตอนกลางคืน กับอีกข้อคือบางคนไม่มีเวลามาตอนเวลางาน ซึ่งเรื่องเวลาเปิดจนดึกนี่ถือเป็นอะไรที่แก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายแบบสุดๆ เลยก็ว่าได้


ส่วนที่คิดว่าอิมแพคน่ากลัวเรื่องรถติด หรือไม่มีรถสาธารณะผมคิดว่าช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงเย็น จะเป็นช่วงเวลาที่น่าดูชมพอสมควร ผมไปช่วงบ่ายๆ ก็ถือว่าจราจรค่อนข้างเป็นมิตรเลยทีเดียว


เท่าที่สังเกต คนที่ไปงาน BBW ส่วนใหญ่จะตั้งใจไปซื้อหนังสือเลย 80% ไม่มีใครคิดว่าจะไปเดินเล่น ส่วนจะซื้อมากหรือน้อยคงขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นเขาคัดเลือกหนังสือมาขายได้น่าสนใจมากเพียงใด และที่สำคัญหนังสือเด็กของเขาน่าตื่นตาสำหรับผู้ปกครองจริงๆ


สำหรับตอนนี้ BBW น่าจะเป็นงานหนังสือที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทยไปแล้ว จากการปักธงเป็นปีที่สามนี้ ผมมองว่าเขายังขยายตลาดไปได้อีกมาก แล้วถ้าปีไหนโชคดีคัดเลือกหนังสือมาได้โดนใจนักอ่าน น่าจะเป็นปีที่ดีมากๆ เพราะกลุ่มเป้าหมายของเขาชัดเจน รูปแบบของงานน่าเดิน การตลาดยิงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ และขนาดฮอลล์ที่ใหญ่และกว้างขวาง ช่วยส่งเสริมให้ขับเคลื่อนงานไปได้ดีมาก (โดยที่ไม่ต้องมีรัฐหรือองค์กรเอกชนสนับสนุน)

ส่วนพวกเราหนอนหนังสือก็กระเป๋าฉีกกันไปตามระเบียบ :P






コメント


Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page