วิกรานต์ ปอแก้ว กับการวิ่งมาราธอนบนเส้นทางสาย “นักเขียน”
เขาเรียนจบระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ กำลังไปได้สวยในด้านการงาน มีความมั่นคงทั้งทางอาชีพ รายได้ แถมอนาคตในเส้นทางสายการเงินนี้ก็สดใส
วันหนึ่งเมื่อไม่นานเท่าไหร่ ชื่อของเขาก็ปรากฏในบรรณพิภพ งานของเขาผ่านตานักอ่าน แถมยังคว้าชัยและเข้ารอบในการประกวดหลายงาน อาทิ รางวัลมติชนปี 2557 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพานแว่นฟ้า, เข้ารอบสุดท้ายรางวัล ชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม ปี 2559
วิกรานต์ ปอแก้ว ได้รับการจับตามองอย่างรวดเร็ว ในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นด้วยมุมมองที่ทำให้คนอ่านสามารถรู้สึกร่วมไปได้กับทุกเรื่องเล่า ทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ผ่านแววตาแห่งยุคสมัยที่ถ่ายทอดด้วยถ้อยคำซึ่งงดงามในความเรียบง่าย
และวันนี้วิกรานต์ก็เลือกที่จะก้าวเดินในสายหนังสืออย่างจริงจัง หันหลังให้แวดวงธุรกิจที่เคยคุ้น เพื่อสร้างฝันลึกๆในใจให้มั่นคง
ใจเด็ดมาก… เราเย้าเขาด้วยประโยคที่แวบขึ้นมาในวาบคิด
“ไม่หรอกครับ ผมแค่ตัดสินใจในสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องทำอย่างอื่นด้วยบ้าง บ้านเมืองนี้ถ้าไม่ใช่นักเขียนดัง เลี้ยงตัวเองคงไม่รอด” วิกรานต์ตอบด้วยเสียงหัวเราะ
เล่าด้วยว่า เขาเป็นคนอ่านหนังสือสารพัดแนว ตั้งแต่ความรู้รอบตัว วรรณกรรม ยันนิตยสารฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ
แต่จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือมาจากการ “อกหัก”
“เป็นการผิดหวังในความรักที่รุนแรงมาก หาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะระบายยังไง เลยเขียนบล็อก เขียนรีวิวหนังสือ แล้วค่อยๆ พัฒนามาเขียนเรื่องสั้น ซึ่งเรื่องสั้นช่วงแรกก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับความผิดหวังในความรักนั่นล่ะ”
จากบล็อก วิกรานต์เริ่มขยับขยายหาพื้นที่ใหม่ๆให้เรื่องเล่าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และพื้นที่การประกวดก็เป็นพื้นที่ที่เขาสนใจ
“ผมอยากพิสูจน์ตัวเอง ส่งประกวดก่อนจะเริ่มส่งเรื่องไปลงตามนิตยสารซะอีก คิดว่างานที่ผ่านเวทีอย่างน้อยกรรมการก็ได้อ่าน อาจมีคอมเมนต์ตามมาก็ถือว่าเป็นโบนัส ส่งประกวดที่แรกก็ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพานแว่นฟ้า ทำให้รู้สึกสนุกและท้าทายตัวเอง จากนั้นก็พยายามส่งตามเวทีต่างๆ มาตลอด แต่ถึงจะเป็นการประกวดผมก็จะไม่เขียนตามที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นกรอบของรางวัล จะเขียนสิ่งที่อยากเขียน ไม่พยายามบีบตัวเองให้เขียนตามที่ถูกกำหนด แต่จะพยายามเล่าเรื่องที่มีอยู่แล้วเชื่อมโยงไปให้ได้มากกว่า ถ้าไม่ได้ก็จะไม่ส่ง”
จากวันนั้นถึงวันนี้ รวมเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาก็ปรากฏออกมาในชื่อ “ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล” โดยสนพ.เม่นวรรณกรรม และได้รับการตอบรับอย่างดีมากๆในเวลาไม่ถึงเดือน ทั้งในแง่ของยอดขายและการรีวิว โดยเฉพาะจากนักอ่านรุ่นใหม่ๆที่เริ่มสนใจวรรณกรรม เพราะสัมผัสได้ถึง ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่มีต่อกันผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้
“ตอนเริ่มรวบรวมเรื่องสั้นทำต้นฉบับยังไม่มีคอนเซ็ปต์อะไรเลย จริงๆ ไม่รู้ว่าต้นฉบับจะผ่านการพิจารณาหรือเปล่าด้วยซ้ำ พอทางคุณนิวัต (นิวัต พุทธประสาท) บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมบอกว่าผ่านแล้ว ก็ยังทอดเวลาไปอีกราวๆสองปี แล้วคุณนิวัตก็คิดชื่อความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล มาจากเพลง The Loneliness of the Long Distance Runner ผมชอบมาก เพราะผมก็เป็นนักวิ่งระยะไกลด้วยไง และตอนที่วิ่งมันก็โดดเดี่ยวมากจริงๆ เพราะฉะนั้นเรื่องสั้นในเล่มนี้ส่วนใหญ่ก็ได้มาระหว่างการวิ่ง บางเรื่องได้แรงบันดาลใจจากนักวิ่งที่เราได้เจอ”
“ผมพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านเรื่องราวของความรัก ความหวัง ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง ความโดดเดี่ยว และการต่อสู้เพื่อการยอมรับต่อเพศสภาพ”
“คนมากมายพยายามที่จะเหงา พยายามจะโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคม เพราะคิดว่าดูเท่ แต่ผมเชื่อว่าเขาเหล่านั้นยังไม่รู้จักความเหงาหรือความโดดเดี่ยวที่แท้จริง ความรู้สึกปลอมๆ แบบนั้นที่สุดแล้วก็นำไปสู่เพียงการเรียกร้องความสนใจ แต่ความเหงาความโดดเดี่ยวจริงๆ แล้วทรมานและแสนเจ็บปวดจนเกินกว่าจะมาทำเพื่อเอาเท่ หรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งที่สุดแล้วมันอาจนำไปสู่อะไรบางอย่างที่เราคาดไม่ถึง”
วิกรานต์ชอบวิ่ง เขาลงแข่งวิ่งมาราธอนหลายครั้ง โดยเขามองว่าการวิ่งมาราธอนกับการเขียนหนังสือ มีหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน
“การวิ่งมาราธอนต้องฝึกซ้อมหลายเดือน และไม่ใช่ว่าเมื่อคุณลงสนามแล้วจะได้พบประสบการณ์สุดยอดประทับใจทุกคน มันมีอุปสรรคมากมายรออยู่ ทั้งที่เกิดจากภายนอก และจากหัวใจคุณเอง ก็เหมือนการเขียน ไม่มีทางที่จู่ๆ คุณจะลงมือเขียนได้โดยไม่มีการเตรียมตัว ไม่มีการฝึกฝน คุณต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นๆ และก็ไม่ใช่ทุกคนที่ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเขียนจะประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากการวิ่งมาราธอนที่มีอุปสรรควางรอท่าอยู่มากมาย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณผ่านการวิ่งมาราธอนแม้เพียงหนึ่งครั้ง คุณจะอยากทำมันอีกซ้ำๆ การเขียนก็เช่นกัน เมื่อได้ลงมือเขียนแล้ว ก็ไม่อยากหยุด” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มที่สดใสผ่านแววตา
นอกจากเขียนหนังสือแล้ว วิกรานต์ยังเป็นแอดมินเพจเปลี่ยนปกด้วย ซึ่งเป็นเพจรีวิวหนังสือที่ได้รับยอมรับจากนักอ่านไม่น้อย เพราะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันตลอดจนทำให้หนังสือกลายเป็นเรื่องสนุก
ที่สำคัญเขากำลังเตรียมทำต้นฉบับรวมเรื่องสั้นเล่มสองและต้นฉบับนิยายเรื่องแรกที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นอยู่ด้วย แต่เป้าหมายสำคัญบนเส้นทางสายนี้และเป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของวิกรานต์คือการเขียนนิยายชีวประวัติของแม่ให้จบ ซึ่งคงใช้เวลานานไม่น้อย
แต่การวิ่งมาราธอนของวิกรานต์ จะยังดำเนินไปบนเส้นทางสายนักเขียนที่ทอดยาวอย่างไม่สิ้นสุด
9 มีนาคม 2559