คุยกับสิเหร่
คุยกับสิเหร่ ในวันที่ "ผีเพลง" พิมพ์ครั้งใหม่ ครั้งที่ 5 กับสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เหมือนเป็นการกลับไปทบทวนอดีตที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
อยากให้เล่าประวัติคร่าวๆ
เป็นคนภูเก็ต เกิดที่ภูเก็ต ตอนนี้อายุ 65 แล้ว เรียนประถม มัธยม ที่โรงเรียนประจำจังหวัด ภูเก็ตวิทยาลัย พอจบ มส. 3 ก็เข้ากรุงเทพมาเรียนศิลปะ แต่เป็นคนที่ไม่ชอบสอบเข้า พี่สาวพาไปสมัครเพาะช่าง แต่พอถึงวันสอบก็ไม่ได้ไปสอบ เพราะงั้นก็จบแค่ ปวช แล้วก็ไม่เรียนอีกเลย จากนั้นเริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ที่ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็ทำอยู่ฝ่ายศิลป์นี่แหละ แต่ข้ามไปเขียนคอลัมน์เรื่องดนตรี กับพี่เสถียร จันทิมาธร แกต้องเขียน 4 หน้าแล้วทำคนเดียว ก็นั่งคุยกับแก แล้วแกบอกว่า “โอ๋ก็เขียนให้พี่สักครึ่งหน้าสิทุกวันศุกร์” ก็เริ่มจากตรงนี้ แล้วก็กลายเป็นเขียนเรื่องดนตรีมาตลอด หลังจากนั้นก็ออกจากประชาธิปไตย มาทำนิตยสารกับพี่สุชาติ 5-6 ปี อยู่สำนักพิมพ์ดวงกมล คุมฝ่ายผลิต แล้วก็เขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับดนตรี อย่าง “ผีเพลง” มันอยู่ในสยามรัฐลายวัน ฉบับวันจันทร์ อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นบรรณาธิการ เขาชวนเขียนก็เขียนมาเรื่อยๆ แต่ชอบเดินทาง สุดท้ายจึงมาเป็นบรรณาธิการนิตยสารเพื่อนเดินทางร่วมกับพี่ประพันธ์ ผลเสวก แต่ตอนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว ชีวิตเดินทางเยอะทั้งต่างประเทศและเมืองไทย ไม่ชอบอยู่ กทม. การเดินทางได้เห็นอะไรเยอะ อย่างที่จีนเขาบอกว่าอ่านหนังสือ หมื่นเล่มสู้กับการเดินทางหมื่นลี้ ไม่ได้ มันก็จริง ได้เห็นของจริง อย่างเราจะเขียนนวนิยายเราก็ต้องเดินทางไปที่ ที่สนับสนุนเรื่องที่เราจะเขียน อย่างตอนที่เดินทางทำนิตยสารเพื่อนเดินทาง ไอ้ฉากต่างๆที่เราผ่านมันก็จะมีผลในฉากต่างๆ ของนิยายที่เราจะเขียน แต่ถ้าเราไม่เคยออกเดินทางเราก็ไม่รู้ว่าข้างนอกมันเป็นอย่างไร จะมานั่งเห็นแต่รูปมันไม่ถึงหรอก มันต้องไปเห็นจริงๆ
มีการเดินทางที่ลำบากที่สุดไหม
มันก็ลำบากนะสมัยก่อน ที่เหนื่อยที่สุดคือขึ้นภูเขาบูโด คืออยากรู้ว่าบูโดเป็นอย่างไง คือบูโดเนี่ยเป็นที่ตั้งของขบวนการโจรก่อการร้าย แล้วบนยอดเขาบูโดเนี่ยมันเป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ของ ขจก.ที่บินมาจากมาเลเซีย เราก็อยากรู้แต่มันขึ้นลำบากเพราะต้องติดต่อสาย ติดต่อคนนำขึ้นไป ได้สายคนนี้มันเป็น ขจก. เก่า ข้างบนมันก็เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์จริงๆ
ถ้าพูดถึงตอนเดินทางจากแคนาดามายุโรป มันอีกแบบหนึ่งมันเหงาเพราะไปคนเดียวในต่างที่ต่างเมือง นั่งรถไฟมาถึงฟรังค์เฟิร์ทแล้วก็รอให้สว่างเพื่อจะไปหาที่พักก็นั่งอยู่ในสถานีรถไฟ มันเหงาอย่างสุดขีดก็เลยหยิบสมุดบันทึกเขียนถึงเพื่อน 5 คน แล้วน้ำตามันก็ไหลตอนนั้นมันสุดจริงๆ แต่โชคดีตอนน้ำตากำลังไหลก็มีเด็กหนุ่ม 4-5 คน คนเยอรมันเดินมา มันคงเห็นเรานั่งอยู่เลยเข้ามาคุยด้วย แล้วมันก็เลยชวนไปเที่ยวบ้านมันเลยอยู่ต่อกับมัน ตอนนั้นเราจึงเข้าใจว่าความเหงาคืออะไร ที่เหงาจริงๆนะ เหงาแบบสุดๆ เหงาที่แบบฆ่าตัวตายได้ อย่างนั้นคือความเหงา แต่ถ้าเป็นที่เราคุยกันว่าอยู่บ้านคนเดียวแล้วเหงา อันนั้นไม่ใช่ความเหงา มันอาจจะเป็นความโดดเดี่ยว
เริ่มเขียนตอนไหน
มันก็เริ่มเขียนตอนทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย อย่างรวมเล่มมันจะเป็นเรื่องของเพลง เพื่อนเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์หนอนไปเอางานเขียนที่ลงตามนิตยสารต่างๆ มารวบรวมเป็นเล่ม เล่มแรกชื่อ "คำตอบนั้นล่องลอยในสายลม" มันไม่มีคอนเซปต์ เหมือนจับยัดไม่ค่อยดี เป็นคนชอบฟังเพลง ยุคแรกฟังพวกร็อค เราโตในยุคฮิปปี้ ชอบใช้ชีวิตเสรี จากนั้นเปลี่ยนมาฟังแจ๊ซก็ฟังมาเรื่อยๆ ได้ 30 กว่าปีแล้ว ก็เขียนเกี่ยวกับ เรื่องแจ๊ซอีก 3 เล่ม นอกจากเขียนดนตรีก็เขียนนิยาย เรื่องสั้น สารคดี อย่างตอนเดินทางมากๆ เราเห็นคนทำลอบหมึกที่เกาะช้าง จังหวัดตราด คือที่จริงมันมีทางเข้า และถ้าออกที่เดิมมันก็ออกได้ แต่มันออกไม่ได้มันก็เหมือนมนุษย์ที่ติดอยู่ในแอกอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็น แล้วพยายามดัน และดิ้นจนบางทีทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ล้มเหลว ตาย มันก็เลยเป็นประเด็นทำให้เราเขียนนิยายเรื่องคนลอบหมึก เราก็เลยไปอยู่เกาะช้าง ไปทำลอบหมึกอยู่ประมาณเกือบ 6 เดือน ไปหาข้อมูลแล้วเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง "คนลอบหมึก" เป็นนิยายเรื่องแรก ก็เขียนมาเรื่อย ที่เข้ารอบรางวัลซีไรต์ก็มีรวมเรื่องสั้น "วิปริต" มันค่อนข้างแรง ปีนั้นปราบดา หยุ่น เขาได้ซีไรต์ ปีถัดมาเป็นเรื่องยาว ชื่อ "เล่นเงา" เป็นเรื่องเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเรามีข้อมูลเยอะ เราเอาไอ้เท่งมาเป็นตัวเอก ให้เท่งมีชีวิต มีตัวตน ตัวเล่าเรื่อง เล่มนี้เข้ารอบ 2 เรื่อง กับงามพรรณ "ความสุขของกะทิ" แล้วความสุขของกะทิก็ได้
หนังสือเล่มแรกที่เปิดประตูการอ่าน แรงบันดาลใจ
ตอนอยู่ประถม 7 มีครูชื่อจิม มาจากอเมริกา แนะนำให้เราอ่าน “เฒ่าผจญทะเล” (The Old Man and The Sea ของ Ernest Hemingway) ฉบับ ดร.วิทย์ แปล รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเราเป็นคนเกาะภูเก็ต ในเรื่องมันมีชาวประมงคนหนึ่งหาปลาไม่ได้ 80 กว่าวัน แต่วันหนึ่งเขาก็จับปลาเมอร์ลินได้ ในขณะที่ต่อสู้กัน มันก็สะท้อนให้เห็นระบบทุนนิยม การผ่อนสั้นผ่อนยาว จนกระทั่งได้ปลามา แต่ถึงที่สุดฉลามก็มาฉกกินหมด ก็เหมือนนายทุนใหญ่ผู้ปกครองที่เอาไปหมด ได้แต่โครงกระดูกที่เหลือติดเรือมา ชอบตอนสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวมาเห็นซากที่ติดอยู่กับเรือแล้วถามซากของอะไร นักท่องเที่ยวคนหนึ่งบอกว่าปลาฉลาม ปลาฉลามอะไรทำไมมันถึงสวยอย่างนี้มันเป็นสัญลักษณ์ที่คล้ายๆ กับว่าระบบทุนนิยม เนี่ยมันเลวไง แต่ทุกคนยังถือว่ามันดี ยังงดงาม แต่ตอนนั้นยังไม่ลงลึกขนาดนั้น แต่นั่งคุยกับครูจิม แกแนะให้ฟัง ส่วนเรื่องไทยอ่านของพนมเทียน แต่ที่อ่านบ่อยๆ ก็ของไม้เมืองเดิม ขุนศึก เรื่องแซะเมืองนายของลพบุรี ที่บ้านมีหนังสือของค่ายเพลินจิตเยอะมาก สมัยก่อนเป็นเล่มเล็กๆ ที่สนุกมากก็เพชรพระอุมาที่เริ่มออกเป็นเล่มแรกเล่มเล็กๆ แล้วมันก็ติดยาวนานเลย อ่านจบภาคแรก ของพนมเทียนนี่อ่านหมด เล็บครุฑ ศิวาราตรี ละอองดาว สกาวเดือน แต่เล็บครุฑสนุกก็อ่านมาเรื่อยๆ สมัยเรียนศิลปะเนี่ยมี 2 เล่ม ปรัชญาชีวิต ของคาลิล ยิบลาน อาจารย์ระวี ภาวิไล แปล แล้วก็สาธนา ของรพินทรนาถ ฐากูร สองเล่มนี้จะอยู่ในย้ามเสมอไปไหนต้องพกประจำ คือ ณ ตอนนั้นลักษณะของคนเรียนศิลปะมันจะมุ่งไปทางศาสนา จะหานิพพาน ไปอ่านพระไตรปิฎกที่สวนโมกข์ ก่อน 14 ตุลา ยังไม่ได้ทำงานหนังสือพิมพ์จริงจัง แต่พอเข้ามาที่ประชาธิปไตย 14 ตุลาเจอเรื่องการเมือง ตอนนั้นเราไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เรามุ่งแต่ว่าจะไปนิพพานอ่านแต่ศาสนา อัลกุรอ่าน ไบเบิล อ่านหมด อ่านศรีภควัทคีตาด้วย อยากรู้ว่าฮินดูเป็นอย่างไร
ถ้าให้พูดถึงงานเขียนของตัวเอง
คืองานเขียนทุกอย่างมันต้องสะท้อนความจริงทั้งนั้น ความจริงอันไหนที่มันเป็นประเด็นหยิบยกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานเขียนที่เราจะทำในแต่ละเล่ม อย่างเราเขียนเรื่องดนตรีมันก็เป็นเรื่องจริงอย่างหนึ่ง พื้นฐานของแจ๊ซเป็นอย่างไง อย่างแจ๊ซมูราคามิ เราก็เริ่มจากนิยายของมูราคามิชอบพูดถึงเพลงแจ๊ซ แล้วถ้าคุณอ่านนิยายของมูราคามิแล้วฟังแจ๊ซที่เขาพูดถึงมันจะได้อรรถรสมากกว่าที่เราอ่านเฉยๆ คืองานเขียน งานศิลปะต่างๆ คือมันสะท้อนความจริงทั้งนั้น คิดว่าทุกเล่มที่เขียน ทุกคนที่เขียนเขาต้องการสะท้อนความจริงทั้งนั้นแหละ แต่จะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่บางคนรู้ว่าเป็นความจริงแล้วมันทำบิดเบี้ยวมันก็โสมม
แรงบันดาลใจ
เพราะอ่านหนังสือก็อยากเขียนหนังสือมันเป็นเรื่องธรรมดา พอถึงจุดหนึ่งเราอยากเขียน เรามีประเด็นที่จะบอกผู้อ่านคือความจริงที่อยากจะบอก มันก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ พอมาถึงจุดหนึ่งมันก็ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้วไง มันต้องเขียนหนังสืออย่างเดียวมันทำอะไรไม่เป็นแล้ว ตอนนี้ก็เขียนหนังสืออย่างเดียวอายุเริ่มมากก็เขียนน้อยลง
มีผลงานใหม่ไหม
ตอนนี้ทำเรื่องสั้น และกำลังให้ทางสำนักพิมพ์ช่วยดูช่วยแก้ไข ชื่อหลงหายไปในฝันมี 8 เรื่องสั้น ทำช้าลงเพราะอายุเริ่มมากขึ้นไม่เร่ง ค่อยๆ ทำต้องให้คนรุ่นใหม่อย่างทางสำนักพิมพ์เม่นมาช่วยดู