800 บรรทัด คุณอ่านหนังสือมากหรือน้อย
ตกลงแล้วคุณอ่านหนังสือมากหรือน้อย
หลายคนสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนไทยทั่วไปอ่านหนังสือกันมากหรือน้อยกันแน่ เคยมีคนบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด วลีนี้เราได้ยินมานานนับสิบปี ไม่รู้ที่มาที่ไปว่ามันมาจากไหน จากงานวิจัยอย่างไร เหมือนการพูดต่อๆ กันมา แล้วเวลาได้ยินประโยคนี้ทุกคนก็มักปกป้องตัวเองว่าอย่างไรเสียวันหนึ่งอ่านเกินแปดบรรทัดแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้เรื่องการอ่านหนังสือถูกปลุกขึ้นมาให้ถกเถียงกันอีกครั้ง เนื่องจากนายกฯ ตู่ (ประยุทธ จันทร์โอชา) ให้สัมภาษณ์ว่าเขาอ่านหนังสือถืง 800 บรรทัด ต่อวัน เหมือนท่านพูดให้คนไทยดูท่านเป็นตัวอย่างว่า งานมากมายแค่ไหนยังหาเวลาอ่านหนังสือประมาณ 800 บรรทัดจนได้
ทีนี้เราก็ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนึง 800 บรรทัดเป็นกี่หน้ากันแน่ เพจของ Readery ได้ให้ตัวอย่างเช่น “เกมลูกแก้ว” ของเฮอร์มาน เฮสเส เฉลี่ยหน้าละ 28 บรรทัด ดังนั้นถ้าอ่านหนังสือวันละ 800 บรรทัดก็จะประมาณ 30 หน้า ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ทีนี้เรามาดูกันว่า สามสิบหน้าจะใช้เวลาอ่านนานกี่นาที สำหรับ “เกมลูกแก้ว” ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างยาก เราน่าจะใช้เวลาในการอ่านประมาณหน้าละ 1 นาที บวกลบกันไปเต็มที่สำหรับคนที่อ่านช้า อ่านเร็ว ถ้าเราอ่านสามสิบหน้าน่าจะใช้เวลาในการอ่านประมาณ 45-55 นาที ในการอ่าน สามสิบหน้า
แล้วถ้าหนังสือที่เป็นเป็นนิยายสนุกๆ มีบทสนทนาเยอะๆ สามสิบหน้าน่าจะใช้เวลาประมาณ 25-35 นาทีก็อ่านจบครบ 800 บรรทัดอย่างแน่นอน
เมื่อปี 2551 สำนักอุทยานการเรียนรู้ ได้ทำแบบสำรวจ ในโครงการวิจัย ทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านของคนไทย โดยใช้แบบตัวอย่าง 1,600 ตัวอย่าง ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ ขึ้นมา ซึ่งเป็นแบบวิจัยที่น่าสนใจ บางส่วนของงานวิจัยพูดถึงเวลาในการอ่านหนังสือ ในงานวิจัยค่อนข้างละเอียดและแบ่งตัวอย่างออกเป็นประเภท ผมหยิบยกค่าเฉลี่ยทั้งหมด โดยแยกออกเป็นว่าตัวอย่างมีสองแบบคือ คนที่ชอบอ่าน กับ คนที่ชอบอ่านน้อยกว่า จะมีค่าเฉลี่ยที่ห่างกันอย่างเด่นชัดคือ แบบสำรวจจะพบว่าผู้ที่สนใจการอ่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะใช้เวลาเฉลี่ยในการอ่านอยู่ที่ 66.6 นาทีต่อวัน ส่วนคนที่สนใจการอ่านไม่มากนักจะอยู่ที่ 42.4 นาที ต่อวัน โดยวันที่ใช้เวลาในการอ่านได้มากคือวันหยุด ส่วนวันธรรมดานั้นการอ่านก็ลดนาทีลงมา รวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการอ่านก็มีส่วนสำคัญสำหรับเพิ่มนาทีของการอ่านให้มากขึ้น
ทีนี้เราคงพอเห็นภาพนะครับว่าการอ่านหนังสือ 800 บรรทัด นั้นยังห่างกับค่าเฉลี่ยของคนที่ชอบอ่านหนังสือไปพอสมควรในกรณีที่อ่านหนังสือที่ไม่ยากจนเกินไป
แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ ไม่ว่าจะอ่านมากหรือน้อย
Charles William Eliot นักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า หนังสือคือเพื่อนที่สงบและสม่ำเสมอที่สุด แถมยังเป็นที่ปรึกษาที่เฉลียวฉลาดและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และสุดท้ายยังเป็นครูผู้อดทนที่สุดด้วย หนังสือจึงเป็นเสมือนคลังของภาษาและภูมิปัญญาที่แสนคมคาย
ถึงที่สุดแล้วความสำคัญในการอ่าน อยู่ที่คุณอ่านอะไรมากกว่า
Comments