top of page

Story From Taiwan II



คืนแรก

โปรแกรมที่ทางไต้หวันจัดให้เราพบปะจะจบสิ้นลงประมาณหนึ่งทุ่ม หลังงานเลี้ยงรับรอง นั่นหมายความว่าเราจะมีเวลาส่วนตัวช่วงหัวค่ำเล็กน้อยเพื่อช็อปปิ้ง หรือเดินเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่ควรไป ก่อนจะกลับไปพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวในวันรุ่งขึ้น แต่คืนแรกหลังงานเลี้ยงรับรอง คุณสุชาดา เรียกพวกเราทั้งหมดประชุมกันต่อที่โรงแรม โดยใช้ห้องรับรองข้างๆ เคาท์เตอร์ล็อบบี้ เพื่อซักซ้อมความพร้อมที่จะต้องไปเจอคณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งงานบุ๊คแฟร์ที่เราจะมาไต้หวัน และทางไต้หวันมาไทย ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ประชุมความพร้อมมาก่อน ก่อนมาเราประชุมกันในระหว่างงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 22 และฝ่ายต่สงประเทศก็ประชุมนอกรอบกันมาหลายครั้ง แต่มาถึงหน้างาน เราก็พบว่ามีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ รวมถึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่กรุงเทพฯ ด้วย ตั้งแต่เรื่องจำนวนพื้นที่ แผนผังของงาน วันเวลาจัดงาน รายละเอียดที่จะเกิดขึ้น

การมาเป็นกรรมการสมาคมฯ การประชุมกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ตั้งแต่มารับตำแหน่ง ผมพบว่าในหนึ่งเดือนตัวเองเข้าประชุมไม่ต่ำกว่าสามครั้ง จากเช้าถึงเย็น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากๆ สำหรับการประชุมแบบนี้ ลุยกันไปให้สุดๆ ครับ สนุกดี

ผมจำไม่ได้ว่าเราประชุมกันกี่ชั่วโมง แต่ช่วงท้ายๆ ร่างกายมันบอกว่าไม่ไหวแล้ว คือยังไม่ได้นอนมาตั้งแต่เมื่อคืน น่าจะเกิน 25 ชั่วโมงแน่ๆ เมื่อสรุปประเด็นกันเสร็จพวกเราก็แยกย้าย



แต่หลังประชุม ผมอยากดื่มเบียร์ก่อนนอนสักสองกระป๋อง ส่วนนกกับปอ อยากได้ของใช้สองสามอย่างที่ขาดอยู่ จึงว่าจะเดินไปเซเว่นฯ เราถามกับพนักงานโรงแรมแถวนี้มีเซเว่นฯ ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าเซเว่นฯ อยู่ห่างจากโรงแรมแค่ช่วงถนนเดียว ใช้เวลาเดินห้าหกนาทีก็ถึง เราลงลิฟท์ไปตามคำบอก เดินไม่ถึงห้านาทีก็ถึง เซเว่นฯ ไต้หวันไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก ด้านหน้าบางแห่งมีที่ให้นั่ง หนุ่มสาวที่เลิกงานกะดึกก็มารวมตัวกันยืนคุย สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่ม หรือกินอาหาร แต่เท่าที่สำรวจดูสินค้าจะมีคุณภาพมากกว่า อาหารแบบฟาสฟู้ดก็ดูดีกว่า ในช่องแช่เบียร์ก็มีมากกว่า มีทั้งเบียร์ไต้หวันและเบียร์นอก คำนวนราคาแล้วไม่ได้ถูกกว่าเมืองไทย (แต่ก็ถูกกว่านิดหน่อยสำหรับเบียร์นอก) สามารถซื้อได้ตลอดเวลา ไม่มีจำกัด โอเคประเทศเจริญแล้วคนเขาคิดเป็น จะซื้อจะดื่มอะไรก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะพิจารณากันเอง

ใครมาไต้หวันก็จะต้องใช้บัตร Easy Card จ่ายแทนเงินสด  บัตรนี้ซื้อแล้วสามารถเติมเงินได้เมื่อหมดวงเงินที่เติม นอกจากใช้แตะเพื่อผ่านประตูรถไฟฟ้าได้แล้ว ยังสามารถใช้กับรถประจำทางได้ บัตรตัวนี้สามารถเติมเงินที่เซเว่นฯ สถานนีรถไฟฟ้า ทั้งเติมจากตู้เติมเงิน หรือเคาท์เตอร์ที่มีคนบริการ บัตร Easy Card นี้ยังใช้ได้บางร้านที่ร่วมรายการเช่นสตาร์บัค แต่เอาไปใช้กับรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าเป็นบัตรที่มีความจำเป็นมากๆ ถ้าเดินทางเองในไทเป ผมได้บัตรนี้มาจากเมืองไทยสองใบ ก็เอามาเติมเงินได้ แต่พบปัญหาบางประการในการใช้ เดาว่าคงเป็นบัตรเก่า จะใช้แตะรถประจำทางบางสายไม่ได้ มันไม่อ่าน แต่บัตรที่ซื้อใหม่อ่านผ่านฉลุย ดังนั้นใครที่ใช้บัตรเก่าก็ต้องเตรียมเศษตังค์เผื่อเอาไว้เวลาขึ้นรถบัสนะครับ ในกรณีที่เกิดปัญหา เพราะไม่งั้นคนขับไม่อนุญาตให้ขึ้นรถ ผมกวาดเบียร์มาห้าหกกระป๋อง เท่าที่จำได้มีเบียร์ไต้หวัน ซัปโปโร และเบียร์ดำ เผื่อสำหรับหมูที่นอนเฝ้าห้อง (เห็นว่าแช่น้ำอุ่นเรียบร้อยแล้ว) ผมนำเบียร์มาจ่ายที่เคาท์เตอร์ ก็ใช้บัตร Easy Card ที่เติมเงินแล้วซื้อของ ที่ไต้หวันเวลาซื้อของเขาจะไม่ให้ถุง เราไม่รู้ก็เลยไม่ได้เตรียมถุงผ้ามาด้วย ก็เลยต้องจ่ายค่าถุงไปโดยปริยาย เจ็บใจที่ต้องมาเสียเงินแบบนี้ คิดในใจว่าคราวหน้าจะไม่ยอมเสียเงินแบบนี้เด็ดขาดเราเดินกลับโรงแรมกันอย่างเหนื่อยอ่อน จริงๆ ก็อยากพักแล้วล่ะ ห้องในโรงแรมก็สวยงาม สะดวกสบาย มาถึงห้องนกอยากมานั่งกินเบียร์และคุยกันต่อ เราก็เลยตั้งวงดื่มเบียร์กันในห้องกันอีกพักใหญ่ๆ จึงแยกย้าย ผมอาบน้ำแล้วคลานไปนอนด้วยความเหนื่อยอ่อน และหลับลงราวกับเด็กทารก….


คืนที่สอง

เราตัดจบงานคืนที่สองหลังอาหารค่ำที่ทางเกรย์ฮ็อคว์ เป็นคนเลือกร้าน และทางกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันฯ เป็นคนจ่ายตังค์ 555

ผมชอบร้านเล็กๆ ที่ทางเกรย์ฮ็อคว์พามาเลี้ยง อาหารอร่อยไม่เล็กอย่างร้านเลยนะ เป็นรสชาติแบบร้านอาหารแบบคนไทเปกินกัน ไม่ใช่ภัตราคาร อาหารเด่นโดดที่จำได้ (อาหารที่เขาสั่งมาเลี้ยงเยอะมากจนจำไม่ไหมด) คือปลานึ่งซีอิ๊ว ไก่แช่เหล้า และเนื้อย่าง ผมอยากบอกว่า ถ้ามาไต้หวันอย่าพลาดปลานึ่งซีอิ๊วกับไก่ต้ม หรือไก่แช่เหล้าเด็ดขาด ไปกินทุกร้านที่เขาเลี้ยง เขาสั่งมาให้กินทุกร้าน แล้วอร่อยเด็ดทุกร้าน โดยเฉพาะเมนูง่ายๆ อย่างไก่แช่เหล้านี่ ผมบอกเลยว่าเมืองไทยแค่เนื้อไก่ก็สู้ไม่ได้แล้ว เนื้อไก่ของเขาไม่เละ ไม่เหนียว แต่แน่น เนื้อร่วน กระดูกล่อนทีเดียวเชียว จบจากมื้อเย็นเบียร์บอกว่ามีตัวแทนอีบุ๊คส์ของไต้หวันเจ้านึงอยากเข้ามาแนะนำตัวกับนายกฯ แต่เนื่องจากคืนนี้จะเป็นคืนสุดท้ายที่ ที่ปอ เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ต้องเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นเมื่อเสร็จภารกิจ น้องเขาก็อยากเดินเที่ยวย่านการค้ากลางคืนที่ซีเหมินติง (Ximending) ซึ่งห่างจากโรงแรมที่เราอยู่เพียงนั่งรถไฟใต้ดินแค่สถานีเดียว เราตัดสินใจชิ่งออกมาก่อน ปล่อยให้นายกฯ อุปนายก และเบียร์อยู่พบกับบริษัทอีบุ๊คส์

ย่านซีเหมินติง เป็นย่านช้อปปิ้งแฟชั่นที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน เป็นที่นิยมในทุกวัยตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ตั้งแต่คนในไทเป จนถึงนักท่องเที่ยว จนได้รับฉายาว่า “ฮาราจูกุแห่งไทเป” เทียบเคียงฮาราจูกุรุ่นพี่ที่โตเกียวอย่างไรอย่างนั้นทีเดียว ย่านนี้มีตรอกซอกซอยมากมายทะลุถึงกันทั้งย่าน และเป็นแหล่งรวมตัวของนักช้อปปิ้ง เป็นแหล่งกำเนิดแฟชั่นหนุ่มสาวชาวไต้หวัน และเป็นหนึ่งใน landmark สำคัญของเมืองไทเป นอกจากร้านรวงต่างๆ แล้ว พวกสตรีทฟู๊ดที่ย่านนี้ก็มีมากมาย บางร้านคนต่อแถวยาวจนขี้เกียจรอย่านซีเหมินติงกำเนิดขึ้นในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น ช่วงปีค.ศ. 1922 มีการสร้างห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ จนปัจจุบันที่มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านขายเครื่องกีฬา และอื่นๆ มาเปิดกันมากมาย สัญลักษณ์สำคัญของย่านคือตึกอิฐแดง ที่กลายมาเป็นแหล่งช็อปปิ้งสินค้าที่เน้นการออกแบบ เน้นไอเดีย เหมือนที่ TCDC ทำ แต่เขาจัดเป็นอาคารช็อปปิ้งเลย


เราไปถึงซีเหมินติงแล้วก็แยกย้ายกันไปเดินตามความชอบใจของแต่ละคน ปอไปกับนก ผมไปกับหมู ผมยังไม่มีไอเดียซื้อของยกเว้นอยากได้รองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ ที่จะมาแทนคู่เก่าที่ใส่จนใกล้พังและไร้ดอกยางไปเรียบร้อย เราเดินจนเมื่อยจึงอยากจะหาที่หย่อนก้น ก็เลยลองเสิร์ชเล่นๆ ว่ามีร้าน Craft Beer แถวนี้ไหม ปรากฎว่ามีจริงๆ ใช้เวลาเดินแค่เจ็ดแปดนาทีก็ถึง เป็นร้านห้องแถวเดียวตรงข้ามโรงหนัง ชื่อว่า Zimen Beer Bar

ไต้หวันถือเป็นสวรรค์ของคนชอบ Craft Beer ประเทศนึงเลยทีเดียว เราเข้าไปบรรยากาศใช้ได้ วัยรุ่นนั่งกันกลุ่ม

ใหญ่ มีแท็ปเบียร์ให้เลือกสิบกว่าแท็ป น่าลิ้มลองทุกตัว มีทั้ง IPA, Weizen, Pale Ale แล้วก็ Dark Beer เรื่องราคาก็ไพน์นึงตกสองร้อยบาทครับ ก็ถือว่าโอเคมาก ส่วนอาหารจะเป็นพวกกับแกล้ม ไม่มีอาหารกินอิ่ม เข้าไปสั่งเบียร์กินอย่างเดียวก็ไม่ว่ากันครับ

ดื่มเบียร์ไปสองแก้วก็เริ่มอ่อนล้า เพราะตอนกลางวันวันนี้ทั้งวันตลุยงานไม่มีหยุด เราจึงออกจากร้านแล้วนั่งรถไฟใต้ดินกลับโรงแรม ว่าไปจะเขียนถึงไต้หวันแค่สองตอน ตอนนี้เริ่มจะยาวแล้ว ถ้าไม่เบื่อก็ติดตามกันต่อไปนะครับ

Comments


Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page