ท่วงทำนองของชีวิต
มีคำถามถึงชีวิตที่ตอบง่ายคือคำถามว่าความปราโมทย์ของชีวิตคืออะไร โดยทั่วไปอาจจะตอบว่า ความสำเร็จในเรื่องงาน ความรัก และการได้รับความนับหน้าถือตาในสังคม รวมความแล้วเป็นความปราโมทย์ที่ข้องแวะกับเรื่องกิน กาม เกียรติโดยเฉพาะ มีคำถามที่ตอบยากจนไม่กล้าตอบข้อหนึ่งคือ ความเลวร้ายของชีวิตคืออะไร นั่นคือ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความเจ็บป่วย ความโศกร่ำไรรำพัน ละความตาย บางคนอาจเลี่ยงตอบคำถามข้อหลังด้วยการกรอกคำตอบของคำถามแรกอย่างละเอียดละออ
แต่มีอีกหนึ่งคำถามที่ว่า แก่นสารของชีวิตคืออะไร หรือเราจะดำดำเนินชีวิตด้วยท่วงทำนองไหน หากเราตอบคำถามนี้ได้ เราก็จะมีชีวิตที่ยึดโยงกับ “ขณะนี้” หาก “จม” อยู่กับการแสวงหาคำตอบสองคำถามแรกจะ “จมปลัก” อยู่กับการหวนไห้อดีตและมุ่งหวังถึงอนาคตที่ไม่เคยมาถึง
มนุษย์ควรจะมีชีวิตด้วยท่วงทำนองใด แน่นอนละ ต้องมีเรื่องความรัก และเรื่องงานอยู่ในนั้น หรือแม้จะมีเรื่องให้คิดให้ทำมากกว่านั้น แต่เมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเราถูกตั้งกรอบมาตั้งแต่เกิดแล้วว่าจะต้องตามทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ ของญาติพี่น้อง ของโรงเรียน ของความเชื่อ ของศาสนา ของสังคม ของประเทศชาติ ไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย จึงเกิดคำถามว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือความปรารถนาเหล่านั้นคืออะไร นั่นใช่ท่วงทำนองของชีวิตหรือไม่
มนุษย์แต่ละคนมีเอกลักษณ์ มีแม่พิมพ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใครสักคน แต่กลับถูกทำให้เป็นอื่นโดยการปลูกฝังจากสังคม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่รวดเร็วไปเสียทุกอย่างนี้ น่าเป็นห่วงว่าเราจะกลายเป็นใครอีกคนที่ไม่ใช่เราได้ และมีหลายคนซ้อนทับในตัวเรามากยิ่งขึ้น จึงทำให้ออกห่างจากตัวเองมากยิ่งขึ้น การที่ต้องกลับมาแสวงหาความเป็นตัวเองนั้นก็เพื่อจะบอกว่าเราอยู่จุดไหนของโลกใบนี้ จะใช้ชีวิตด้วยท่วงทำนองไหน
ผมไม่ได้ปฏิเสธวิถีทางโลก แล้วให้ทุกคนหันเข้าหาทางธรรม โลกทั้งสองด้านต้องเดินไปด้วยกัน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เหมือนร่างกายที่ขาดวิญญาณ หรือดวงวิญญาณที่ไร้ร่างอย่างไรอย่างนั้น
ท่านโอโชกล่าวว่า “ความศรัทธาไม่ใช่การไว้วางใจองค์ประกอบ แต่คือการไว้วางใจองค์รวม” หรือเรากำลังศรัทธากับชีวิตเพียงบางด้านแล้วเชื่อว่ามันคือทั้งหมดของชีวิต ท่านโอโชพูดถึงความไว้วางใจตัวเอง ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ไม่เป็นเหมือนใคร ไม่ตั้งกรอบให้ชีวิต ไม่ดึงจักรวาลเข้ามาอยู่ในวงโคจรของเรา เพราะจักรวาลยิ่งใหญ่ ตัวเราน้อยนิด การตั้งกฎตั้งกรอบชีวิตจะทำให้ชีวิตยิ่งบิดเบี้ยว ให้เราผสานเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต ชีวิตจะบอกเราเองว่าเราควรทำสิ่งใดข้างหน้า
เราแสวงหาชีวิตที่ดีราวกับจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชีวิตเดียว สร้างกำแพงล้อมรอบตัวจนกลายเป็นกระดองที่แข็งกระด้าง ปกป้องตัวเองจากความไม่มั่นคงทั้งหลาย เราเรียกสภาพการณ์อย่างนี้ว่าชีวิต แล้วเรียกการใฝ่หาชีวิตที่เป็นอิสระภายในว่าความไม่มั่นคง
หากหญิงสาวจะเลือกผู้ชายสักคนเป็นคู่ชีวิต ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะเลือกคนประเภทแรกเป็นของแน่อยู่แล้ว อดคิดไม่ได้ว่าการสร้างครอบครัวคือการประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต ใครเล่าจะเลือกคนที่แสวงหาความเป็นตัวเอง อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ควรจะต้องเลือกสองสภาวะที่สุดโต่งเช่นนี้ สองสิ่งนี้อยู่ร่วมกันได้ ไม่ควรเลือกอย่างหนึ่ง แต่ต้องทิ้งอีกอย่างหนึ่ง ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า โลกต้องดำเนินไปด้วยท่วงทำนองทั้งสองด้านนี้
ผมกลับคิดว่า การศึกษาน่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้มนุษย์ค้นพบตัวเองได้ โดยเฉพาะการศึกษาในระบบ เพราะเยาวชนใช้เวลาส่วนมากในสถานศึกษานั่นเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการศึกษานอกระบบ เพราะสังคมเป็นผลพวงจากการบ่มเพาะจากการศึกษาในระบบ
การศึกษาต้องกล่าฉีกกรอบออกจากการเป็นทาสของระบบตลาดเสรี เลิกสร้างพันธกิจในการผลิตมนุษย์ระบบตลาด นั่นคือสภาพการณ์ที่แท้จริงของระบบการศึกษาในปัจจุบัน หากยังเป็นเช่นนี้ เยาวชนก็จะหวาดกลัวการแสวงหาความเป็นตัวของตัวเองจากรากฐานภายในที่แท้จริง เพราะเสี่ยงต่อการตกงาน สังคมจึงประกอบด้วยเยาวชนที่มีปัญหาจากความเก็บกดจากระบบ
มนุษย์เป็นผลผลิตของสังคม ขณะเดียวกันมนุษย์ก็เป็นขบถจากกระบวนการผลิตสร้างของสังคมได้ การศึกษาที่แท้จริงต้องกล้าเปิดทางให้มนุษย์คิดทวนกระแส กล้ายอมรับตัวเอง นี่คือท่วงทำนองของชีวิตที่ควรจะเป็น ไม่สำคัญว่าเราตอบคำถามว่าความปราโมทย์ของชีวิตคืออะไรได้เพียงกระท่อนกระแท่น แต่เ
ราก็ตอบได้ เอาตัวรอดได้ และเช่นกัน เราสามารถตอบคำถามว่าความเลวร้ายของชีวิตคืออะไรได้โดยที่ไม่โศกาอาดูรมากนัก
สิ่งสำคัญคือเราตอบคำถามของตัวเราได้ว่าท่วงทำนองของเราคือทวงทำนองใด.
...
พีระยุทธ พลตรี
Comments